กรณีศึกษา

ความสามารถในการฟื้นตัวผ่านบทสนทนา: การสร้างค่านิยมร่วมกันในศรีลังกา

Values4All ให้ความรู้แก่คนหนุ่มสาวชาวศรีลังกาในเรื่องคุณค่าแนวมนุษยนิยม เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นระหว่างชุมชนต่าง ๆ

เอกภาพในความหลากหลายเป็นเป้าหมายที่น่าสรรเสริญในทุกสังคม แต่สำหรับบางประเทศ หนทางสู่ความเข้าใจที่ดีขึ้นเป็นเรื่องยาก ในศรีลังกา ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์จนถึงขั้นนองเลือด การสร้างความเข้าใจกันดูเหมือนจะเป็นความฝันที่เกินเอื้อม

Values4All เป็นโครงการที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างความปรองดองระหว่างชุมชนต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสมานรอยร้าวอันขมขื่นของประเทศผ่านการทำงานร่วมกับคนหนุ่มสาว 

“ทำไมเราต้องแบ่งแยก ทำไมเราเป็นคนศรีลังกาเหมือนกันไม่ได้” อัซมัทดุลลา ฮามีดุล กระบวนกรของ Values4All กล่าว “ผมเกิดแรงบันดาลใจเมื่อได้มาเจอโครงการ Values4All เพราะผมรู้สึกว่าสามารถทำงานร่วมกับคนหนุ่มสาวในชุมชนเพื่อส่งเสริมความสามัคคีในหมู่คนที่หลากหลายได้ ผมหวังว่าเราจะเข้าใจว่าการที่เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ไม่ว่าจะมีภูมิหลังเป็นอย่างไรนั้นทรงพลังขนาดไหน”

อัซมัทดุลลา กระบวนกรจากจังหวัดอัมปาราทางภาคตะวันออกของศรีลังกา (ภาพ: Values4All)

อัซมัทดุลลาและเพื่อนกระบวนกรของเขามีงานยากอยู่ในมือ ศรีลังกาได้ดำเนินการที่สำคัญหลายอย่าง นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามกลางเมืองอันยาวนานระหว่างรัฐบาล (ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นตัวแทนของชาวสิงหล ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของเกาะ) กับกองทัพปลดปล่อยพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (LTTE) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่ต่อสู้เพื่อแยกตัวเป็นรัฐของชาวทมิฬในศรีลังกา อย่างไรก็ตาม มีความพยายามมากขึ้นที่จะส่งเสริมความปรองดองระหว่างชาวสิงหล ชาวทมิฬ และชาวมุสลิมจำนวนมาก ซึ่งมีความสำคัญต่อสันติภาพที่ยั่งยืน

ความไม่ไว้วางใจที่ฝังรากลึกระหว่างชุมชนต่าง ๆ ยังคงอยู่ การจลาจลที่มุ่งเป้าไปที่ชุมชนชาวมุสลิมในปี 2018 และการโจมตีในวันอาทิตย์อีสเตอร์ในปี 2019 ซึ่งโบสถ์และโรงแรมหลายแห่ง ตกเป็นเป้าหมายในเหตุระเบิดพลีชีพของกลุ่มก่อการร้ายที่นับถือศาสนาอิสลาม ได้เปิดปมความตึงเครียดทางเชื้อชาติและศาสนา

Values4All มีจุดประสงค์เพื่อให้แน่ใจว่าคนหนุ่มสาวจะได้รับเครื่องมือที่จะช่วยเอาชนะความไม่ไว้วางใจที่ฝังแน่น ซึ่งมักจะเกิดจากความไม่พอใจทางประวัติศาสตร์

โครงการนี้พยายามที่จะต่อสู้กับข้อมูลเท็จและการเลือกปฏิบัติในประเทศ โดยผ่านกลยุทธ์ที่เชื่อมโยงกันทั้งในโลกออนไลน์และในชีวิตจริง

หลักสูตรค่านิยมได้รับการพัฒนาขึ้นโดยหารือร่วมกับกลุ่มเยาวชน (ภาพ: Values4All)

จุดเน้นหลักสำหรับ Values4All คือโครงการค่านิยมร่วมกัน เป้าหมายคือการฝึกอบรมคนหนุ่มสาว 1800 คนเกี่ยวกับ “หลักสูตรค่านิยม” ซึ่งครอบคลุมคุณค่าแนวมนุษยนิยม 7 ประการหลัก ได้แก่ การฟังอย่างใส่ใจ ความสันติ การให้เกียรติ การยอมรับความแตกต่าง ความเมตตา ความซื่อสัตย์จริงใจ และการทำงานร่วมกัน หลักสูตรนี้มุ่งเน้นการฝึกอบรมกระบวนกรให้ทำงานร่วมกับเยาวชนในภูมิภาคบ้านเกิดของตน

กระบวนกรหลายคนมาจากพื้นที่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนชาติพันธุ์ เป็นไปด้วยความอึดอัด หรือแย่กว่านั้น บ้านเกิดของอัซมัทดุลลาอยู่ที่จังหวัดอัมปาราทางภาคตะวันออกของศรีลังกา ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และมีรอยร้าวระหว่างชาวมุสลิม ชาวทมิฬ และชาวสิงหล

เขายอมรับว่ามีความไม่ไว้วางใจระหว่างชุมชนต่าง ๆ อย่างรุนแรง โดยมีการจัดระเบียบหมู่บ้านตามแนวชาติพันธุ์และศาสนาอย่างเคร่งครัด แต่เขาเชื่อว่าเวิร์กช็อปของ Values4All ประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำลายอุปสรรคที่มีอยู่เดิม

เยาวชนกำลังดูแอปโทรศัพท์มือถือ Values (ภาพ: Values4All)

“ปัญหาสำคัญสำหรับเราในภาคตะวันออกคือความท้าทายด้านตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ผู้คนต่างแยกกันอยู่เป็นหมู่บ้านตามวัฒนธรรม แม้จะอยู่ภายในเขตเดียวกัน” เขากล่าว “ด้วยเหตุนี้จึงมีอุปสรรคด้านภาษาตามมาด้วย แต่เมื่อเราจัดเวิร์กช็อปและมารวมตัวกัน พวกเราก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากหาวิธีสื่อสารกันให้ได้”

ธารินดู อิศุรอง กระบวนกรอีกคนหนึ่งของโครงการมาจากคุรุเนกาลาทางตะวันตกของศรีลังกา ซึ่งเป็นเขตที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวสิงหล แต่เขาสามารถชี้ให้เห็นพื้นที่ที่ชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างรวดเร็ว เขากล่าวว่าความรังเกียจเดียดฉันท์และอคติทางวัฒนธรรมมักถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น “เมื่อคุณดูหมู่บ้านและเขตต่าง ๆ คุณจะรู้ได้จากชื่อหมู่บ้านว่าคนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมหรือชาวสิงหล ส่วนผู้คนก็แต่งตัวต่างกันและรับประทานอาหารต่างกัน แต่คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมอื่น ๆ” เขาเชื่อว่า Values4All “จะนำพาผู้คนเข้าหากัน ช่วยให้พวกเขาเข้าใจความแตกต่าง และได้รู้ว่าการที่พวกเขาสามารถอยู่ร่วมกันได้ไม่ว่าจะมีภูมิหลังอย่างไรนั้นทรงพลังขนาดไหน”

ธารินดูกำลังร่วมเป็นกระบวนกรในการประชุมเรื่องค่านิยมให้กับเพื่อนร่วมงานของเขาในคุรุเนกาลา (ภาพ: Values4All)

เวิร์กช็อปภาคสนามเป็นส่วนสำคัญในกลยุทธ์ของ Values4All แต่โครงการก็พึ่งพาศักยภาพของสื่อดิจิทัลด้วยเช่นกัน หลักสูตรค่านิยมถูกแปลงเป็นดิจิทัลในปี 2017  แอปบนโทรศัพท์มือถือระบบ Android ช่วยให้สามารถขยายโครงการได้กว้างขวางขึ้นทั่วประเทศ ทำให้ผู้นำเยาวชนสามารถแบ่งปันและพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำตามค่านิยมได้ Values4All โฆษณาหลักสูตรของตนอย่างกว้างขวางบน Facebook และ Twitter ทั้งยังทำวิดีโอแนะนำหลักสูตรบน YouTube ในภาษาสิงหล ภาษาทมิฬ ภาษาอังกฤษ และภาษามือ

กระบวนกรในโคลัมโบ ค.ศ. 2018 (ภาพ: Values4All)

แน่นอนว่าการเกิดโรคระบาดทำให้การพบปะกันต่อหน้าเป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย เหล่ากระบวนกรปรารถนาที่จะกลับเข้าไปในชุมชนโดยเร็วที่สุด แต่ในระหว่างนี้ Values4All ได้ร่วมมือกับ ROAR ซึ่งเป็นบริษัททางด้านสื่อ เพื่อพัฒนาคอนเทนต์ที่ช่วยให้คนหนุ่มสาวจัดการกับข้อมูลเท็จในโลกออนไลน์ได้

คำบอกเล่าจากพื้นที่จริง พอจะเผยให้เห็นผลลัพธ์ของโครงการนี้ได้บ้าง กระบวนกรได้เห็นตัวอย่างของทัศนคติที่เคยแข็งกระด้างได้อ่อนนุ่มลง ตลอดจนบทสนทนาและความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งขึ้นระหว่างชุมชนต่าง ๆ

แอปพลิเคชันมือถือ Values (ภาพ: Values4All)

ในเวิร์กช็อปครั้งหนึ่ง กระบวนกรฝึกหัดที่สามารถพูดได้ทั้งภาษาทมิฬและภาษาสิงหลปฏิเสธที่จะช่วยแปลในตอนแรก แต่เมื่อเวิร์กช็อปดำเนินไปเขาก็อาสาที่จะช่วยแปล

“เราขอสนับสนุนว่าประเด็นนี้ไม่ใช่การบังคับให้เปลี่ยนแปลง” โฆษกของ Values4All กล่าว “เราไม่ต้องการเปลี่ยนผู้คน เราให้พื้นที่พวกเขาในการโต้ตอบและได้รับมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับชุมชนต่าง ๆ ที่พวกเขาอาจมีปัญหาในการทำความเข้าใจในอดีต”

กดติดตามลิงก์นี้เพื่อดูคอนเทนต์ Values4All เพิ่มเติม

เว็บไซต์

เข้าร่วมชุมชนของเราบน Facebook

เข้าร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในระดับกว้างของเราผ่านเพจ Facebook ของเรา

Go to Facebook