วิธีกำหนดตัวชี้วัดในชีวิตจริง
แนวคิดบางอย่าง เช่น ความเกลียดชังและความสามารถในการฟื้นตัวนั้นยากที่จะวัดให้แม่นยำได้ บทความนี้มีวิธีที่เป็นรูปธรรมในการวัดผลแคมเปญออนไลน์ของคุณ
ความคิดต่าง ๆ เช่น ความเกลียดชัง ความคิดสุดโต่ง การยอมรับความแตกต่าง และความสามารถในการฟื้นตัวนั้น อาจนิยามได้ยาก ความคิดเหล่านี้เป็นความคิดส่วนตัวที่อาจมีการตีความแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล แต่ละสถานที่ ในการประเมินผลลัพธ์ที่โครงการของคุณมีต่อค่านิยมเหล่านี้ คุณต้องเปลี่ยนมันให้เป็นตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมในชีวิตจริง
ในบทนี้เราจะอธิบายประเด็นหลัก ๆ ในทางการเปลี่ยนแนวคิดเชิงนามธรรมให้เป็นตัวชี้วัดในชีวิตจริง และบอกวิธีที่เป็นรูปธรรมในการวัดผลแคมเปญออนไลน์ของคุณ
จากแนวคิดเชิงนามธรรม…
เราต้องสามารถระบุขอบเขตของแนวคิดต่าง ๆ เช่น ความคิดสุดโต่งความเกลียดชัง การยอมรับความแตกต่าง และความสามารถในการฟื้นตัว ให้ได้อย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถวัดสิ่งเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมมุติว่าเราต้องการวัดระดับการยอมรับความแตกต่างต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนาในกลุ่ม Facebook เกี่ยวกับศาสนา เราจะนับเฉพาะกรณีที่แสดงถึงการไม่ยอมรับความแตกต่างและเรียกร้องความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนา หรือเราจะนับรวมการแสดงความเห็นที่ก้าวร้าวอย่างเปิดเผยด้วย และในขณะเดียวกัน สิ่งที่แสดงถึงการยอมรับความแตกต่างคืออะไร เราจะมองหาเฉพาะการแสดงออกที่ให้เกียรติและยอมรับชนกลุ่มน้อยทางศาสนาโดยเปิดเผย หรือเราจะนับรวมการแสดงออกที่ก้ำกึ่งด้วย การเลือกที่จะนับรวมการแสดงออกเพียงแบบเดียวหรือทุกแบบว่าเป็นสิ่งที่แสดงถึงการยอมรับหรือไม่ยอมรับความแตกต่างนั้นอาจเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ของการประเมินได้อย่างมีนัยสำคัญ
…จนเป็นตัวชี้วัดในชีวิตจริง
ในการแปลงแนวคิดเรื่องการยอมรับความแตกต่างให้เป็นตัวชี้วัดในชีวิตจริงนั้น คุณจะต้องสามารถวัดการยอมรับความแตกต่างได้ คุณต้องมีสเกลการวัด เพื่อเป็นตัวอย่างง่าย ๆ คุณสามารถใช้สเกลโดยกำหนดค่าดังต่อไปนี้:
ในด้านลบ:
คะแนนการยอมรับความแตกต่าง –10 = การเรียกร้องความรุนแรง
คะแนนความเกลียดชัง -4 = การแสดงออกว่าอยากจะออกห่าง
ในด้านบวก: คะแนนการยอมรับความแตกต่าง +1 = การแสดงออกที่ก้ำกึ่ง (“ฉันไม่ได้ต่อต้านชาวฮินดู”)
คะแนนการยอมรับความแตกต่าง +10 = การแสดงออกที่ยอมรับชนกลุ่มน้อยทางศาสนาอย่างเปิดเผย (“ฉันชอบและเคารพชาวคริสต์มาก”)
นอกเหนือไปจากคำพูดแล้ว คุณยังสามารถกำหนดคะแนนให้การกระทำของคนได้ด้วย เช่น การเขียนโพสต์ที่แสดงถึงการยอมรับหรือไม่ยอมรับความแตกต่างต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนาอาจได้คะแนนในระดับหนึ่ง ส่วนการกดไลก์หรือแชร์โพสต์เหล่านั้นอาจได้คะแนนครึ่งเดียวเมื่อเทียบกับการเขียนโพสต์ ไม่ว่าคุณจะวัดการยอมรับความแตกต่าง การเลือกปฏิบัติ ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ความสามารถในการฟื้นตัว ความเชื่อใจ หรือแนวคิดอื่น ๆ คุณก็ต้องกำหนดค่าที่ต่างกันให้กับเงื่อนไขต่าง ๆ
แนวทางที่เป็นรูปธรรมเพื่อค้นหาวิธีวัดผลลัพธ์ของคุณ
การหาเครื่องมือที่ดีที่สุดในการวัดผลลัพธ์ของโครงการที่คุณทำอาจเป็นเรื่องยาก ต่อไปนี้คือเคล็ดลับในการค้นหากลยุทธ์การประเมินที่ดีที่สุด และเลือกเครื่องมือวัดผลที่ดีที่สุดสำหรับโครงการของคุณ
1. ใช้เครื่องมือวัดผลที่มีอยู่แล้ว
หลีกเลี่ยงการสร้างเครื่องมือวัดผลขึ้นมาเอง ค้นคว้าข้อมูลและเลือกเครื่องมือวัดผลที่มีอยู่แล้วและผ่านการพิสูจน์มาแล้ว ซึ่งสร้างขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมิน คุณจะพบคลังเครื่องมือวัดระดับความเกลียดชังและแนวคิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (เช่น มูลฐานนิยม ลัทธิสุดโต่ง ความสามารถในการฟื้นตัว) ที่นี่ เพียงเลื่อนลงไปด้านล่างสุดในหน้านี้
2. ร่วมมือกับนักวิจัยมืออาชีพ
ทางเลือกที่ดีอีกอย่างหนึ่งคือการเชิญนักวิจัยมืออาชีพมาร่วมทีมประเมิน ความร่วมมือระหว่างนักวิจัยกับองค์กรภาคประชาสังคมนั้นอาจเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย: คุณจะได้รับความช่วยเหลือที่สำคัญในการออกแบบ วัดผล วิเคราะห์ และตีความข้อมูล ส่วนนักวิจัยก็จะมีโอกาสนำความรู้มาประยุกต์ใช้กับปัญหาในชีวิตจริง และพวกเขายังอาจนำข้อมูลบางส่วนไปใช้ในการสอนและการวิจัยได้ด้วย โดยขึ้นอยู่กับข้อจำกัดด้านจริยธรรมและความปลอดภัย
3. ใช้วิธีการแบบผสมผสานในการวัดผลลัพธ์ของสิ่งที่คุณทำ
ข้อนี้หมายถึงการรวบรวมข้อมูลหลาย ๆ แบบจากเครื่องมือการประเมินแบบต่าง ๆ คุณสามารถดูได้ว่ามียอดไลก์ ยอดแชร์ และยอดดูคอนเทนต์ออนไลน์ของคุณเท่าไร และคุณยังสามารถทำแบบสอบถามออนไลน์เพื่อถามผู้รับสารว่าคิดอย่างไรกับคอนเทนต์ของคุณได้อีกด้วย คุณสามารถสัมภาษณ์ผู้รับสารผ่าน Zoom หรือนัดพบกัน และขอให้พวกเขาแสดงความเห็นในแบบของตนเอง บ่อยครั้งที่การประเมินแคมเปญบนโซเชียลมีเดียที่ดีใช้หลายวิธีผสมกัน
ใช้ “รายการตรวจสอบสำหรับการสัมภาษณ์อย่างมีประสิทธิภาพ” นี้เป็นแนวทาง
4. พูดคุยเรื่องแผนการประเมินกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการ
เราแนะนำให้พูดคุยเรื่องแผนการประเมินกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบางคนในการสนทนากลุ่มหรือการเสวนาโต๊ะกลม อธิบายแผนการประเมินของคุณและถามพวกเขาว่าควรวัดอะไรบ้าง และวัดอย่างไร มุมมองที่แตกต่างกันของพวกเขาอาจใช้เป็นแนวทางที่สำคัญในการประเมินของคุณได้ การปรึกษาในลักษณะนี้อาจสร้างความนิยมให้กับโครงการของคุณได้ด้วย เนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะเข้าใจสิ่งที่คุณทำมากขึ้น และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอาจรวมถึงสมาชิกของชุมชนที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนจากรัฐบาล ประชาชนที่มีอิทธิพล และนักกิจกรรม
ดูอินโฟกราฟิกที่มีประโยชน์ที่นี่ เกี่ยวกับสิ่งที่ควรพิจารณาเมื่อทำการประเมินในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตหรือความขัดแย้ง
สนับสนุนโดยศาสตราจารย์เกรก บาร์ตัน และ ดร. แมตทีโอ เวอร์กานี แห่งสถาบันพลเมืองและโลกาภิวัตน์ อัลเฟรด เดียกิน มหาวิทยาลัยเดียกิน