การรู้เท่าทันดิจิทัล: วิธีระบุของปลอม
ในฐานะผู้นำองค์กรภาคประชาสังคม คุณสามารถทำบางอย่างเพื่อป้องกันการแพร่กระจายข้อมูลเท็จ บทความนี้มีเคล็ดลับในการป้องกันการแพร่กระจายข้อมูลเท็จและข่าวปลอม
ผู้สื่อข่าวได้รับการฝึกฝนให้พิจารณาว่าข้อมูลแต่ละชิ้นเป็นความจริงหรือไม่ก่อนที่จะเผยแพร่อะไรออกไป ประชาชนทั่วไปมักไม่ได้รับการฝึกฝนเช่นนี้ แต่ก็มีอำนาจอย่างมากในการเผยแพร่ข้อมูล เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวางบวกกับความเร็วของโซเชียลมีเดียทำให้ข้อมูลเท็จสามารถแพร่กระจายเหมือนไฟลามทุ่ง บางครั้งก็ลุกลามเข้าสู่ชีวิตจริงพร้อมกับสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรง
ในฐานะผู้นำองค์กรภาคประชาสังคม คุณสามารถทำบางอย่างเพื่อป้องกันการแพร่กระจายข้อมูลเท็จ คุณควรจะ:
- ส่งเสริมการรู้เท่าทันดิจิทัลภายในเครือข่ายของคุณ
- ให้ความรู้ผู้รับสารของคุณเกี่ยวกับอันตรายของข่าวปลอม
- แสดงให้ผู้รับสารเห็นวิธีตัดสินว่าอะไรคือข้อมูลจริงและอะไรคือข้อมูลปลอม
เราทุกคนล้วนมีพลังที่จะหยุดการแพร่กระจายของอันตรายที่เกิดจากการแชร์ข้อมูลปลอม
ข่าวปลอมคืออะไร
ข่าวปลอมคือข้อมูลเท็จที่ทำให้ดูเหมือนจริง เป็นเรื่องที่ทำให้เข้าใจผิดและหลอกลวงเพราะดูเหมือนเป็นเรื่องจริง
ทำไมข่าวปลอมถึงถูกสร้างขึ้น
การรู้แค่ว่าอะไรที่เป็นข้อมูลปลอมนั้นไม่พอ เราต้องเข้าใจด้วยว่าทำไมถึงมีข้อมูลเท็จ บางครั้งก็เป็นแค่ข่าวสารที่ไร้คุณภาพ ซึ่งไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง
แต่ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ข่าวปลอมถูกสร้างขึ้น คือ:
– เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ปลุกปั่นความคิดเห็นของสาธารณชนหรือทำให้ฝ่ายตรงข้ามเสื่อมเสีย
– เพื่อผลประโยชน์ทางการเงิน เพิ่มรายได้จากการโฆษณาโดยการส่งเสริมให้แชร์บนโซเชียลมีเดีย
– เพื่อหลอกลวงประชาชนให้ซื้อสินค้าและบริการบางอย่าง
– เพื่อแผ่ขยายความกลัวและอคติและสร้างความไม่มั่นคง
ข้อมูลเท็จกับการบิดเบือนข้อมูล
ข้อมูลเท็จ คือ ข่าวลือ การดูหมิ่น และการเล่นพิเรนทร์
การบิดเบือนข้อมูล คือ การแต่งเรื่องให้เข้าใจผิดและวางแผนให้คุณคิดและทำบางสิ่ง เช่น โฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองออนไลน์ หรือข้อมูลต่อต้านวัคซีน
เคล็ดลับดี ๆ
คุณอาจแพร่กระจายข่าวปลอมโดยไม่ได้ตั้งใจ หากมีคนแฮ็กบัญชีของคุณและแอบอ้างว่าเป็นคุณ! จงดูให้แน่ใจว่าคุณมีรหัสผ่านที่คาดเดายากซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถแฮ็กได้
เท็จ กับ จริง
ลองดูภาพเหล่านี้ ภาพหนึ่งปลอมและอีกภาพหนึ่งจริง ลองนึกดูว่าง่ายแค่ไหนที่คนจะเชื่อว่าภาพถ่ายทางด้านซ้ายเป็นของจริง ถ้าพวกเขาได้รับภาพทางโทรศัพท์
วิธีที่จะบอกได้ว่าอะไรจริงอะไรปลอม
สิ่งสำคัญที่คุณต้องทำเพื่อตรวจสอบว่าเป็นของจริงหรือของปลอมมี 2 สิ่ง คือ:
1. ตรวจสอบแหล่งที่มา
ใครเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลนั้น ผู้ที่เผยแพร่ได้รับข้อมูลนั้นมาจากที่อื่นหรือไม่ ตัดข้อความจากข้อมูลนั้นมาหนึ่งย่อหน้า แล้วนำไปวางในเครื่องมือค้นหาเพื่อดูว่าข้อมูลนั้นปรากฏที่อื่นบนอินเทอร์เน็ตหรือไม่
และคุณยังสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของภาพโดยการค้นหาย้อนกลับบน Google วิธีนี้จะแสดงให้คุณเห็นว่าภาพนั้นปรากฏอยู่ที่ใดบนอินเทอร์เน็ตอีกบ้าง ภาพถ่ายนั้นเดิมเป็นภาพสต็อกหรือเปล่า ภาพนั้นมีการใช้งานมาแล้วหลายครั้งหรือเปล่า
สิ่งสำคัญคือทำการค้นหา 2-3 ครั้งจนกว่าคุณจะพอใจว่าพบแหล่งที่มาดั้งเดิมแล้ว หากไม่มั่นใจ ให้คิดว่าเป็นข้อมูลที่น่าสงสัยไว้ก่อน อย่าเพิ่งส่งต่อ
2. พยายามคิดวิเคราะห์
ถามตัวเองว่าข้อมูลนั้นพยายามให้คุณทำอะไร
ข้อมูลนั้นพยายามให้คุณทำสิ่งเหล่านี้หรือไม่:
- ซื้อของ
- แชร์ให้เยอะ ๆ ในเครือข่ายของคุณ
- คิดหรือทำบางอย่าง
คำตอบอาจบอกคุณได้ว่าข้อมูลนั้นเป็นของจริงหรือของปลอม หากคุณยังมีข้อสงสัย ให้ค้นหาเพิ่มเติมหรืออย่าส่งต่อข้อมูล
เราควรคิดด้วยว่า ทำไมเราถึงส่งข้อมูลให้คนอื่น คุณแชร์เพราะเหตุต่อไปนี้หรือไม่
- คุณกลัวและต้องการเตือนคนอื่น ๆ
- คุณรู้สึกโกรธแค้นและต้องการสร้างความโกรธแค้นมากขึ้น
- คุณต้องการเป็นคนแรกที่แชร์ความรู้นี้ เพื่อให้ตัวเองดูรอบรู้มากขึ้น
การหยุดและไตร่ตรองสักครู่ก่อนที่คุณจะกดส่งจะช่วยให้คุณตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ และหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลสืบเนื่องที่ไม่ได้ตั้งใจ
อินโฟกราฟิกที่มีประโยชน์นี้จะแสดงขั้นตอนในการตัดสินใจว่าข้อมูลนั้นเป็นของจริงหรือของปลอมก่อนที่คุณจะแชร์ให้ผู้อื่น
ดาวน์โหลดได้ที่นี่เพื่อแชร์กับชุมชนของคุณ
อ่านเพิ่มเติม
รายชื่อแหล่งตรวจสอบความถูกต้อง รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับการตรวจสอบข้อมูลในสถานการณ์วิกฤต
แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการรู้เท่าทันดิจิทัลบน Facebook:
https://www.facebook.com/safety/educators
https://wethinkdigital.fb.com/resources
คู่มือการใช้สามัญสำนึกเพื่อความปลอดภัยทางดิจิทัลสำหรับผู้หญิงและเด็กหญิงในแอฟริกาใต้สะฮารา