บทที่ 1: การเชื่อมต่อโซเชียลมีเดียเข้ากับโลกแห่งความจริง

แนวทางโดยละเอียดเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียสำหรับองค์กรภาคประชาสังคม

องค์กรภาคประชาสังคม (CSO) ต้องไปอยู่ในที่ ๆ มีการสนทนาเกิดขึ้น เพื่อเสริมพลังให้กับผู้คนที่พวกเขาต้องการช่วยเหลือ ได้เวลาใช้โซเชียลแล้ว!

แนะนำโครงการ Resiliency Initiative

เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่ปกติ การระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความตึงเครียดเกี่ยวกับศาสนา ชาติพันธุ์ และเพศ ในชุมชนต่าง ๆ ของเอเชีย เกิดคำพูดที่สร้างความเกลียดชัง การเลือกปฏิบัติ ความหวาดกลัวชาวต่างชาติ และข้อมูลเท็จจากช่องทางออนไลน์ที่อาจนำไปสู่ความคิดสุดโต่งหรือความรุนแรงมากขึ้น

โครงการ Resiliency Initiative คือโครงการพันธมิตรระหว่าง Facebook กับมูลนิธิเอเชียเพื่อส่งเสริมการยอมรับความแตกต่าง เสริมสร้างความเข้าใจระหว่างศาสนาและชาติพันธุ์ และต่อต้านความรุนแรงแบบสุดโต่ง โดยการสร้างชุมชนที่มีความสามารถในการฟื้นตัวทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

วิธีใช้งานเว็บไซต์และคู่มือนี้

โครงการ Resiliency Initiative จะสนับสนุนเครื่องมือโซเชียลมีเดียที่จำเป็นให้แก่คุณ เพื่อสร้างความสามารถในการฟื้นตัวในชุมชนของคุณ คุณรู้จักชุมชนของคุณดีที่สุด ทั้งผู้คน ประวัติศาสตร์ และความตึงเครียดที่ดำรงอยู่

โครงการ Resiliency Initiative จะสนับสนุนข้อมูลออนไลน์ให้ฟรี ซึ่งได้แก่คู่มือฉบับนี้ ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถของคุณในการส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจและการยอมรับความแตกต่างภายในชุมชนของตนเอง นอกจากนี้ คุณยังมีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมในอนาคตและเชื่อมต่อกับองค์กรภาคประชาสังคม (CSO) อื่น ๆ ที่อาจอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง และกำลังเผชิญกับปัญหาที่คล้ายกัน

คู่มือนี้ประกอบด้วยบทสรุปสำหรับองค์กรภาคประชาสังคม เกี่ยวกับแนวทางการใช้โซเชียลมีเดียของโครงการ Resiliency Initiative คุณสามารถแชร์ทางออนไลน์หรือดาวน์โหลดเก็บไว้ใช้แบบออฟไลน์ก็ได้ และยังมีบทความเชิงลึก แผ่นงาน อินโฟกราฟิก และวิดีโอเกี่ยวกับหัวข้อที่กล่าวถึงในที่นี้ รวมอยู่ในส่วนทรัพยากรบนเว็บไซต์นี้ด้วย โครงการ Resiliency Initiative ออกแบบมาให้เติบโตไปตามกาลเวลา และเราหวังว่าคุณจะกลับมาเรื่อย ๆ เพื่อหาคำตอบให้กับข้อสงสัยเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียของคุณ

ทำไมคุณถึงต้องออนไลน์

องค์กรภาคประชาสังคมต้องไปอยู่ในที่ ๆ มีการสนทนาเกิดขึ้น เพื่อเสริมพลังให้แก่ผู้คนที่คุณต้องการช่วยเหลือ ใช้โซเชียลไงล่ะ! ผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลกกำลังใช้โซเชียลมีเดียเพื่อแชร์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูล และสินค้ากัน และยังเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงในการเชื่อมโยงกับผู้คนที่เหมาะสม ตลอดจนสร้างและสนับสนุนทั้งชุมชนออนไลน์และชุมชนออฟไลน์ไปพร้อกันด้วย

โซเชียลมีเดียก็เหมือนกับสื่อแบบดั้งเดิมที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้รวบรวมและแชร์ข่าวสาร สื่อสารกับผู้รับสาร และสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งยังมีประโยชน์ด้านอื่น ๆ คือ

  • มันรวดเร็วและทันใจ โซเชียลมีเดียทำงานแบบเรียลไทม์และมีการอัปเดตอยู่ตลอดเวลา คุณสามารถแบ่งปันสิ่งที่ต้องการสื่อกับผู้รับสารได้โดยตรงบนโซเชียลมีเดีย เพียงแค่กดปุ่มส่งหรือโพสต์
  • เครือข่ายโซเชียลมีเดียสามารถเข้าถึงผู้คนจำนวนมากได้ 
  • มันใช้งานง่าย ระบบของโซเชียลมีเดียเข้าใจง่าย และไม่จำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมมากมาย 
  • มันเป็นวิธีการสื่อสารที่ทรงพลัง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำ

การสื่อสารทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ไปพร้อม ๆ กัน

คุณสามารถใช้สื่อแบบดั้งเดิมและโซเชียลมีเดียไปพร้อม ๆ กันได้ แคมเปญออนไลน์สามารถช่วยเสริมวิธีการที่ใช้อยู่แล้วได้ ข้อสำคัญคือการเลือกช่องทางที่เหมาะกับจุดประสงค์ในการสื่อสารของคุณมากที่สุด บางครั้ง รถที่ติดลำโพงและขับผ่านไปตามถนนอาจได้ผลดีกว่าแคมเปญจดหมายข่าวออนไลน์ก็ได้ เพราะ คุณอาจพบว่าจดหมายข่าวที่คุณใช้เวลาและความพยายามอย่างมากในการเขียนนั้นมีคนได้รับและเปิดอ่านมันจริง ๆ เพียงไม่กี่คนเท่านั้น แต่ละสถานการณ์ล้วนแตกต่างกันไปและคุณต้องเลือกวิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับแต่ละสถานการณ์ ซึ่งอาจเป็นช่องทางออนไลน์ ออฟไลน์ หรือทั้งสองอย่างก็ได้

ในบางครั้ง แคมเปญบนโซเชียลมีเดียก็มีพลังพอจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวในชีวิตจริงที่ข้ามพรมแดนได้ด้วย การเคลื่อนไหวเรื่อง #blacklivesmatter อันทรงพลังนั้นเริ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกาและได้แพร่หลายไปทั่วโลก มันจุดประกายให้แก่ชุมชนคนพื้นเมืองและคนผิวสีได้ไกลถึงออสเตรเลีย

การเคลื่อนไหวเรื่อง #metoo ก็แพร่หลายในระดับโลกเช่นกัน และมาถึงทวีปเอเชียด้วย แคมเปญนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงกล้าเปิดเผยเรื่องราวส่วนตัวของพวกเธอเพื่อเรียกร้องให้หยุดการล่วงละเมิดทางเพศในชุมชน บริษัท อุตสาหกรรม หรือแม้แต่ในรัฐบาล นอกจากนี้ โซเชียลมีเดียยังเป็นส่วนสำคัญในการประท้วงของประชาชนทั่วทั้งเอเชียอีกด้วย

โซเชียลมีเดียนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ข้อสำคัญคือคุณต้องมีความชัดเจนว่าอยากจะสื่ออะไร แล้วเลือกวิธีสื่อสารที่ดีที่สุด ลองพิจารณาว่า โซเชียลมีเดียเป็นวิธีที่ดีที่สุดหรือเปล่า หรือว่าการใช้วิธีแบบดั้งเดิมอาจได้ผลดีกว่า และหาทางผสมผสานทั้งสองวิธีเข้าด้วยกัน เช่น คุณสามารถบันทึกคำพูดในรายการสดแล้วนำมาแชร์ทางออนไลน์ก็ได้

เลือกโซเชียลมีเดียที่ใช้อย่างชาญฉลาด

แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมีอยู่มากมายให้เลือกใช้ สิ่งสำคัญคือต้องรู้จักมันให้ดีว่า มันใช้ทำอะไร และได้รับความนิยมแค่ไหนในภูมิภาคของคุณ แพลตฟอร์มแต่ละอย่างมีลักษณะเด่นของตัวเอง คุณไม่จำเป็นต้องรู้วิธีใช้ทุกแพลตฟอร์มก็ได้ เพียงแค่รู้จักมันก็พอ

และคุณก็ไม่จำเป็นต้องใช้ทุกแพลตฟอร์ม ที่จริงแล้วการใช้เพียงหนึ่งหรือสองแพลตฟอร์มที่คุณใช้ได้ดีนั้นดีกว่าการทุ่มเทเวลาและความพยายามไปกับแพลตฟอร์มจำนวนมาก

คุณต้องหาว่าแพลตฟอร์มใดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มคนที่คุณพยายามจะเข้าถึง พวกเขาใช้โซเชียลมีเดียอะไร เมื่อคุณทราบแล้ว คุณจะได้ใช้เวลาไปกับการสร้างสื่อที่ดีขึ้นเพื่อเชื่อมโยงกับคนกลุ่มนั้น

เริ่มจากแพลตฟอร์มเดียวและพยายามมุ่งเป้าตรงนั้นก่อน เมื่อคุณเชี่ยวชาญแล้วค่อยขยายไปยังแพลตฟอร์มอื่นตามที่จำเป็นต่อจุดประสงค์การสื่อสารของคุณ

การพัฒนากลยุทธ์การใช้โซเชียลมีเดีย

แม้ว่านี่คือ “โซเชียล” มีเดีย แต่มันไม่ได้มีไว้เพื่อการเข้าสังคมเพียงอย่างเดียว คุณต้องมีแผนที่ชัดเจนและสอดคล้องกันเพื่อสื่อสารของคุณไปยังกลุ่มคนที่เหมาะสม

เว็บไซต์ Resiliency Initiative ขอแนะนำขั้นตอนง่าย ๆ สามขั้นตอนสำหรับพัฒนากลยุทธ์การใช้โซเชียลมีเดียของคุณ เมื่อทำทั้งสามขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว คุณจะเห็นชัดเจนว่าต้องทำอะไรเพื่อพัฒนาแคมเปญโซเชียลมีเดียขององค์กรคุณ คุณจะต้องตอบคำถามต่อไปนี้:

  • คุณต้องการสื่อสาร (อะไร) 
  • คุณต้องการสื่อสารกับ (ใคร)
  • คุณจะให้ผู้รับสารมีส่วนร่วม (อย่างไร)

ขั้นตอนที่ 1: คุณต้องการสื่อสาร (อะไร)

การให้ความช่วยเหลือทางสังคมทุกอย่างล้วนมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ในการสร้างความแตกต่างได้อย่างแท้จริงนั้น คุณต้องมีภาพที่ชัดเจนในใจว่าต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร และเพราะอะไร ข้อนี้จะช่วยให้คุณสามารถพัฒนาจุดประสงค์ในการสื่อสารที่ดีได้

กำหนดจุดประสงค์ในการสื่อสารของคุณให้สามารถวัดผลได้และเฉพาะเจาะจงที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยการถามคำถามเพิ่มเติมว่า

  • ฉันจะทราบได้อย่างไรว่าทำสำเร็จ
  • เป้าหมายหรือตัวชี้วัดใดที่จะพิสูจน์ได้ว่าฉันบรรลุจุดประสงค์แล้ว 
  • กรอบเวลาสำหรับการบรรลุจุดประสงค์นี้คืออะไร

เคล็ดลับสำคัญ

ยิ่งคุณกำหนดจุดประสงค์ในการสื่อสารให้เฉพาะเจาะจงและวัดผลได้มากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งสื่อสารได้ตรงเป้าและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น คุณต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้รับสารมีการกระทำหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอะไรบ้าง จุดประสงค์ในการสื่อสารไม่ได้เป็นเพียงจำนวนโปสเตอร์หรือใบปลิวที่ทำขึ้นมา จงมุ่งเป้าไว้ ถ้ามีจุดประสงค์ที่ชัดเจนเพียงข้อเดียวก็เยี่ยมไปเลย!

ใช้โจทย์กระตุ้นความคิดเหล่านี้เพื่อกำหนดจุดประสงค์ของคุณ:

ความตระหนักรู้ – สร้างความรู้และความเข้าใจในหัวข้อหนึ่ง ๆ

ตัวอย่างเช่น: ฉันต้องการสร้างความรู้เกี่ยวกับ (ปัญหา X)

การกระทำ– ร่วมกิจกรรม เยี่ยมชม ลงทะเบียน เข้าร่วม ร่วมมือ สนับสนุน

ตัวอย่างเช่น: ฉันต้องการให้คนลงทะเบียนรับจดหมายข่าวของเรา

ฉันต้องการให้คนลงชื่อในสัญญา/คำร้องของเรา

ฉันต้องการให้คนบริจาค

การมีส่วนร่วม – เปลี่ยนพฤติกรรมหรือความเชื่อ

ตัวอย่างเช่น:

ฉันต้องการแสดงให้เห็นว่าการขับรถในขณะมึนเมานั้นอันตรายขนาดไหน คนจะได้เลิกขับรถในขณะมึนเมา

ฉันต้องการท้าทายความเชื่อในชุมชนเกี่ยวกับ (x) พวกเขาจะได้เลิกปฏิเสธคนที่มี (x)

ตัวอย่างของจุดประสงค์ในการสื่อสาร: เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในชุมชนให้ดีขึ้น

จุดประสงค์ในการสื่อสารที่ผ่านการเกลาแล้วคือ: เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนระหว่างเยาวชนกับผู้สูงอายุให้ดีขึ้น เพื่อลดการข่มเหงทางกายและวาจาต่อผู้สูงอายุในชุมชนในช่วงสองปีต่อไปนี้

รวมคำตอบของคุณให้อยู่ในประโยคเดียวหรือย่อหน้าเดียว แล้วเกลาภาษาให้ดี

สิ่งสำคัญก่อนจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปคือ คุณต้องเข้าใจความท้าทายต่าง ๆ ในโครงการที่คุณเสนออย่างถ่องแท้ คุณต้องเรียนรู้จากความสำเร็จและความล้มเหลวในอดีตเพื่อจัดการกับปัญหาของคุณให้สำเร็จ เมื่อไม่แน่ใจ ควรตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อยืนยันว่าคุณเข้าใจสถานการณ์อย่างแท้จริง

ขั้นตอนที่ 2: คุณต้องการสื่อสารกับ (ใคร)

การระบุว่าคุณต้องสื่อสารกับใครนั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ “ทุกคน” ที่เป็นผู้รับสารเป้าหมาย มันกว้างเกินไป คุณต้องมีความเฉพาะเจาะจง เพื่อให้การสื่อสารของคุณเข้าถึงกลุ่มคนที่เหมาะสม

หากลองนึกถึงการโฆษณาแฟชั่น จะเห็นว่าเสื้อผ้าถูกนำเสนอในรูปแบบที่เชื่อมโยงแค่กับคนบางกลุ่ม ไม่ใช่กับทุกคน เพราะนั่นจะกว้างเกินไป สไตล์หรือผ้าบางชนิดอาจไม่เหมาะกับภูมิอากาศบางแบบ ไม่ดึงดูดคนบางกลุ่ม หรือไม่เหมาะกับงบประมาณของพวกเขา บริษัทต่าง ๆ ต้องรู้ว่าจะทำเสื้อผ้าสำหรับใคร ก่อนที่จะออกแบบแคมเปญโฆษณาที่มีประสิทธิภาพได้

ระบุผู้รับสารเป้าหมายของคุณด้วยอายุ เพศ สถานที่ การจ้างงาน สถานะการสมรสและครอบครัว ตลอดจนลักษณะทางประชากรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ตัวอย่างเช่น ผู้รับสารเป้าหมายของฉันคือเยาวชนที่ว่างงาน อายุ 18-25 ปี อาศัยอยู่ในเมือง X

ระบุผู้รับสารเป้าหมายของคุณ

ทีนี้ลองนึกดูว่าผู้รับสารเป้าหมายของคุณคิด รู้สึก และทำสิ่งต่าง ๆ อย่างไร เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจลักษณะนิสัยและทัศนคติของพวกเขา เพื่อให้คุณสามารถเชื่อมโยงกับพวกเขาได้อย่างแท้จริง โดยใช้สารที่เหมาะสม

ตัวอย่างเช่น: พวกเขาคิดว่าตนจะไม่มีวันได้งาน พวกเขามีพฤติกรรมแบบไม่สนใจอะไร เพราะคิดว่าชีวิตของตนคงไม่ยืนยาว

ลองคิดดูว่าผู้รับสารเป้าหมายของคุณคิด รู้สึก และทำสิ่งต่าง ๆ อย่างไร

ขั้นตอนที่ 3: คุณจะให้ผู้รับสารมีส่วนร่วม (อย่างไร) 

ใช้วิธี “3M” เพื่อให้ผู้รับสารของคุณมีส่วนร่วม:

  • Message (สาร)
  • Messenger (ผู้สื่อสาร)
  • Medium (สื่อกลาง)

สารของคุณ

สิ่งที่คุณต้องการบอกกับผู้รับสารเป้าหมายคืออะไร สารหลักควรจะชัดเจนและกระชับ สารของคุณจะโดนใจผู้รับสารหรือไม่ คุณทำให้มันน่าสนใจขึ้นได้ไหม คุณต้องพิจารณาทั้งการใช้ภาษา น้ำเสียง และบริบท ภาษาที่ใช้ต้องไม่แสดงการดูถูกหรือมีลักษณะที่ไม่ใส่ใจความรู้สึก คำพูดบางคำอาจมีนัยที่เป็นเชิงบวกหรือเชิงลบสำหรับผู้รับสารที่ต่างกัน ในวัฒนธรรมและบริบทที่แตกต่างกัน

ผู้สื่อสารของคุณ

เลือกผู้สื่อสารที่ดีเพื่อเข้าถึงผู้รับสารเป้าหมายของคุณ คุณต้องคิดว่าใครจะสื่อสารของคุณออกไปได้ดีที่สุด ผู้รับสารของคุณจะต้องรู้จักและนับถือผู้สื่อสารคนนี้ คุณสามารถเชิญพวกเขามาเข้าร่วมได้ทั้งในการสื่อสารออนไลน์และออฟไลน์

ผู้ที่มีความน่าเชื่อถือได้แก่:

  • องค์กรที่ได้รับความนับถือ
  • บุคคลที่ผู้รับสารเป้าหมายของคุณนับถือ เช่น นักกีฬาดัง นักดนตรี หรือนักแสดง
  • ผู้นำศรัทธา ผู้นำชุมชน หรือผู้นำเยาวชนที่ได้รับความนับถือ

ตัวอย่างของผู้สื่อสารที่ทรงพลังคนหนึ่งคือ เกรตา ธันเบิร์ก การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนั้นเป็นปัญหามาหลายทศวรรษแล้ว และมีหลายคนที่พยายามสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณะ แต่เกรตา ธันเบิร์กสามารถเชื่อมโยงกับผู้รับสารได้จริง ๆ และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนทั่วโลก ทำไมน่ะเหรอ ก็เพราะเธออายุน้อยและตรงไปตรงมา เธอไม่กลัวที่จะพูดความจริงกับผู้มีอำนาจ ข้อนี้ทำให้ผู้คนรับฟังเธอ และเป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียนคนอื่น ๆ ทำตามเช่นกัน ระริน (ลิลลี่) สถิตธนาสารนักเรียนจากประเทศไทยเริ่มรณรงค์ต่อต้านพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งมานานกว่า 6 ปีแล้วตั้งแต่เธออายุ 8 ปี เธอเองก็ทำให้ผู้ใหญ่ตั้งคำถามกับการกระทำของตัวเองเช่นกัน

คุณต้องตัดสินใจว่าใครจะเป็นผู้สื่อสารที่ดีที่สุดสำหรับโครงการของคุณ และพวกเขาจะช่วยคุณได้อย่างไร

นักเคลื่อนไหวและผู้สื่อสารที่ทรงพลัง เกรตา ธันเบิร์ก จากสวีเดน และระริน (ลิลลี่) สถิตธนาสาร จากประเทศไทย

สื่อกลางของคุณ

สื่อกลาง (ช่องทางหรือระบบการสื่อสาร) ที่ดีที่สุดสำหรับองค์กรของคุณคือสื่อกลางที่ผู้รับสารของคุณใช้อยู่ “สื่อกลาง” หมายรวมถึงประเภทของแพลตฟอร์ม (แอป) และประเภทของเนื้อหาบนแพลตฟอร์มนั้น

แพลตฟอร์ม

คุณต้องพิจารณาว่าผู้รับสารเป้าหมายของคุณใช้แพลตฟอร์มอะไร เพื่อจะได้เข้าไปใช้ด้วย

คอนเทนต์

พิจารณาว่าคอนเทนต์แบบไหนที่เหมาะกับผู้รับสารเป้าหมายของคุณ

  • วิดีโอ: คลิปหรือภาพเคลื่อนไหวสั้น ๆ
  • ข้อความ: คำขวัญ แฮชแท็ก หรือจดหมายเปิดผนึก
  • ภาพ: ภาพถ่าย มีม
  • เสียง: พอดคาสต์ หรือคลิปเสียงสั้น ๆ
  • การ์ตูน: การ์ตูนช่องหรือภาพเคลื่อนไหวสั้น ๆ

ค้นคว้าดูว่าเครื่องมือสื่อสารและคอนเทนต์อะไรที่ผู้รับสารของคุณชอบ ผ่านการสำรวจ การสัมภาษณ์ หรือแม้แต่การสังเกตโดยตรง นอกจากนี้ คุณยังต้องพิจารณาทรัพยากรและงบประมาณของคุณด้วย ลองคิดดูว่าช่องทางหรือแพลตฟอร์มใดที่เหมาะสำหรับการเข้าถึงผู้รับสารกลุ่มนี้มากที่สุด คอนเทนต์แบบใดที่เข้าถึงง่าย แบ่งปันง่าย และน่าสนใจสำหรับพวกเขา

เขียนรายชื่อแพลตฟอร์มที่ผู้รับสารของคุณใช้ และประเภทคอนเทนต์ที่คุณสร้างได้

คำนึงถึง “หลักการห้ามทำอันตราย”

ในชุมชนของคุณมีประเด็นอ่อนไหวเรื่องใดบ้างที่คุณต้องทราบ มีสิ่งใดในการสื่อสารของคุณบ้างไหมที่อาจกระตุ้นประเด็นอ่อนไหวเหล่านี้ ตรวจสอบกับผู้อื่นทั้งในชุมชนและนอกชุมชน เพื่อให้มั่นใจว่าคุณได้พิจารณาทุกอย่างแล้ว และยังต้องตรวจสอบด้วยว่าคอนเทนต์ของคุณถูกต้องและมีหลักฐานประกอบหรือไม่

ข้อพิจารณาถึงประเด็นอ่อนไหวอาจได้แก่ คำพูด หัวข้อ ภาพ สัญลักษณ์ หรือแม้แต่สีบางสี

กลยุทธ์การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียที่สมบูรณ์ของคุณ

ทีนี้คุณก็สามารถกรอกคำตอบข้างต้นลงในแบบฟอร์มนี้ได้แล้ว

  • จุดประสงค์ในการสื่อสาร: 
  • ผู้รับสารเป้าหมาย: 
  • สารสำคัญ: 
  • ผู้สื่อสาร:
  • สื่อกลาง (แพลตฟอร์มและประเภทคอนเทนต์):
  • ข้อพิจารณาตามหลักการ “ห้ามทำอันตราย”:

ยินดีด้วย! คุณมีกลยุทธ์แล้ว ควรทบทวนกระบวนการนี้อย่างน้อยปีละครั้งเพื่อประเมินว่าคุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง มีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง และจะพัฒนากลยุทธ์ของคุณให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร กลยุทธ์นี้อาจพัฒนาไปตามกาลเวลาเพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกองค์กร รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของชุมชนในวงกว้าง

แนวทางโดยละเอียดสำหรับการพัฒนากลยุทธ์การใช้โซเชียลมีเดียของคุณ

PDF

เข้าร่วมชุมชนของเราบน Facebook

เข้าร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในระดับกว้างของเราผ่านเพจ Facebook ของเรา

Go to Facebook