บทที่ 4: การวัดผลลัพธ์ของสิ่งที่คุณทำ

แนวทางโดยละเอียดเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียสำหรับองค์กรภาคประชาสังคม

การวัดผลนั้นสำคัญ เพื่อจะได้เข้าใจว่างานของคุณสร้างความแตกต่างให้แก่ผู้คน กลุ่มคน องค์กร หรือชุมชนที่เกี่ยวข้องได้มากน้อยเพียงใด

ไม่ว่าคุณจะทำงานออนไลน์หรือออฟไลน์ การวัดผลคือกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจผลลัพธ์จากโครงการของคุณ เพื่อวัดว่างานของคุณสร้างความแตกต่างให้แก่ผู้คน กลุ่มคน องค์กร หรือชุมชนที่เกี่ยวข้องอย่างไร และมากน้อยแค่ไหน 

ทำไมการวัดผลถึงสำคัญ

สัญชาตญาณอาจช่วยให้คุณรู้สึกได้ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นเชิงบวกหรือเชิงลบ แต่มีเพียงการประเมินผลลัพธ์อย่างเหมาะสมเท่านั้นที่จะช่วยระบุจุดแข็งและจุดอ่อนในงานของคุณได้อย่างครอบคลุม การประเมินผลลัพธ์นั้นสำคัญ ไม่ว่ากิจกรรมของคุณจะเกิดขึ้นทางออนไลน์หรือออฟไลน์ จะเรียบง่ายหรือซับซ้อน ราคาถูกหรือราคาแพง

ไม่ว่าผลลัพธ์นั้นจะใหญ่หรือเล็ก ระยะยาวหรือระยะสั้น เป็นเชิงบวกหรือเชิงลบ เกิดขึ้นโดยเจตนาหรือไม่เจตนา คุณจำเป็นต้องทราบข้อมูลนี้เพราะเหตุผลหลายประการ

1) เป็นบทเรียนสำหรับอนาคต

การประเมินผลลัพธ์ที่ออกแบบมาอย่างดีนั้นช่วยให้คุณเข้าใจว่า กิจกรรมของคุณมีแง่มุมใดที่ได้ผลดีกว่าแง่มุมอื่น ๆ และช่วยให้ทราบสาเหตุในระดับหนึ่ง ข้อนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถของคุณในการมุ่งเน้นกับสิ่งที่สำคัญจริง ๆ และจะบอกให้คุณทราบว่าต้องเปลี่ยนแปลงอะไรในอนาคต

2) ประหยัดเวลาและทรัพยากร

การประเมินผลลัพธ์ช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าใช้เวลาและเงินไปอย่างคุ้มค่า และช่วยให้คุณได้รับผลตอบแทนสูงสุดจากการลงทุน

3) ช่วยให้ดึงดูดเงินทุนได้ง่ายขึ้น

การประเมินผลลัพธ์สามารถช่วยคุณปกป้องเงินทุนที่มีอยู่ และอาจดึงดูดผู้สนับสนุนรายใหม่ ๆ ด้วย การที่คุณสามารถพิสูจน์ผลลัพธ์ของสิ่งที่คุณทำ จะช่วยให้คุณแสดงประสิทธิภาพและคุณค่าของโครงการได้ดีขึ้น และแสดงให้เห็นความสามารถในการจัดการโครงการและความรับผิดชอบของคุณ

4) ก้าวขึ้นเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

การประเมินผลลัพธ์นั้นมีพลังมาก เพราะมันพิสูจน์ให้เห็นว่าคุณสามารถช่วยแก้ปัญหาสังคมที่สำคัญได้ คุณสามารถใช้หลักฐานนี้ในการแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าสิ่งที่คุณทำนั้นมีความสำคัญ

การประเมินผลลัพธ์สามารถที่จะ:

  • เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นที่ต้องการทำงานลักษณะเดียวกันในบริบทอื่น
  • สร้างความตระหนักว่าเราต้องการโครงการแบบนี้มากขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาสังคมที่สำคัญ 
  • เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนโยบาย เช่น หากคุณสามารถแสดงให้เห็นว่าแคมเปญของคุณทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียมีแนวโน้มที่จะรับข้อมูลเท็จจากช่องทางออนไลน์น้อยลง ข้อพิสูจน์นี้สามารถใช้ดึงดูดการลงทุนจากรัฐบาลและเอกชนในโครงการลักษณะเดียวกันเพิ่มขึ้น

การประเมินผลลัพธ์ยังอาจช่วยให้คุณกลายเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายที่กว้างขึ้นของผู้คนที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนโยบายในลักษณะเดียวกัน ทั้งในประเทศของคุณและต่างประเทศ 

วิธีวัดผลลัพธ์ของสิ่งที่คุณทำ

การหาเครื่องมือที่ดีที่สุดในการวัดผลลัพธ์ของโครงการที่คุณทำอาจเป็นเรื่องยาก ต่อไปนี้คือเคล็ดลับในการค้นหากลยุทธ์การประเมินที่ดีที่สุด และเลือกเครื่องมือวัดผลที่ดีที่สุดสำหรับโครงการของคุณ

1. ใช้เครื่องมือวัดผลที่มีอยู่แล้ว

หลีกเลี่ยงการสร้างเครื่องมือวัดผลขึ้นมาเอง ค้นคว้าข้อมูลและเลือกเครื่องมือวัดผลที่มีอยู่แล้วและผ่านการพิสูจน์มาแล้ว ซึ่งสร้างขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมิน คุณจะพบคลังเครื่องมือวัดระดับความรุนแรงหรืออคติ และแนวคิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (เช่น มูลฐานนิยม ลัทธิสุดโต่ง ความสามารถในการฟื้นตัว) ที่นี่ เพียงเลื่อนลงไปด้านล่างสุดในหน้านี้

2. ร่วมมือกับนักวิจัยมืออาชีพ

ทางเลือกที่ดีอีกอย่างหนึ่งคือการเชิญนักวิจัยมืออาชีพมาร่วมทีมประเมิน ความร่วมมือระหว่างนักวิจัยกับองค์กรภาคประชาสังคมนั้นอาจเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย คุณจะได้รับความช่วยเหลือที่สำคัญในการออกแบบ วัดผล วิเคราะห์ และตีความข้อมูล ส่วนนักวิจัยก็จะมีโอกาสนำความรู้มาประยุกต์ใช้กับปัญหาในชีวิตจริง และพวกเขายังอาจนำข้อมูลบางส่วนไปใช้ในการสอนและการวิจัยได้ด้วย โดยขึ้นอยู่กับข้อจำกัดด้านจริยธรรมและความปลอดภัย

3. ใช้วิธีการแบบผสมผสานในการวัดผลลัพธ์ของสิ่งที่คุณทำ

ข้อนี้หมายถึงการรวบรวมข้อมูลหลาย ๆ แบบจากเครื่องมือการประเมินแบบต่าง ๆ คุณสามารถดูได้ว่ามียอดไลก์ ยอดแชร์ และยอดดูคอนเทนต์ออนไลน์ของคุณเท่าไร และคุณยังสามารถทำแบบสอบถามออนไลน์เพื่อถามผู้รับสารว่าคิดอย่างไรกับคอนเทนต์ของคุณได้อีกด้วย คุณสามารถสัมภาษณ์ผู้รับสารผ่าน Zoom หรือนัดพบกัน และขอให้พวกเขาแสดงความเห็นในแบบของตนเอง บ่อยครั้งที่การประเมินแคมเปญบนโซเชียลมีเดียที่ดีใช้หลายวิธีผสมกัน

4. พูดคุยเรื่องแผนการประเมินกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการ

เราแนะนำให้พูดคุยเรื่องแผนการประเมินกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบางคนในการสนทนากลุ่มหรือการเสวนาโต๊ะกลม อธิบายแผนการประเมินของคุณและถามพวกเขาว่าควรวัดอะไรบ้าง และวัดอย่างไร มุมมองที่แตกต่างกันของพวกเขาอาจใช้เป็นแนวทางที่สำคัญในการประเมินของคุณได้ การปรึกษาในลักษณะนี้อาจสร้างความนิยมให้กับโครงการของคุณได้ด้วย เนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะเข้าใจสิ่งที่คุณทำมากขึ้น และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอาจรวมถึงสมาชิกของชุมชนที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนจากรัฐบาล ประชาชนที่มีอิทธิพล และนักกิจกรรม

การใช้ตัวชี้วัดในชีวิตจริง

เราต้องสามารถระบุขอบเขตของแนวคิดต่าง ๆ เช่น ความคิดสุดโต่ง ความเกลียดชัง การยอมรับความแตกต่าง และความสามารถในการฟื้นตัวให้ได้อย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถวัดสิ่งเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมมุติว่าเราต้องการวัดระดับการยอมรับความแตกต่างต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนาในกลุ่ม Facebook เกี่ยวกับศาสนา เราจะนับเฉพาะกรณีที่แสดงถึงการไม่ยอมรับความแตกต่างและเรียกร้องความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนา หรือเราจะนับรวมการแสดงความเห็นที่ก้าวร้าวอย่างเปิดเผยด้วย และในขณะเดียวกัน สิ่งที่แสดงถึงการยอมรับความแตกต่างคืออะไร เราจะมองหาเฉพาะการแสดงออกที่ให้เกียรติและยอมรับชนกลุ่มน้อยทางศาสนาโดยเปิดเผย หรือเราจะนับรวมการแสดงออกที่ก้ำกึ่งด้วย การเลือกที่จะนับรวมการแสดงออกเพียงแบบเดียวหรือทุกแบบว่าเป็นสิ่งที่แสดงถึงการยอมรับหรือไม่ยอมรับความแตกต่างนั้นอาจเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ของการประเมินได้อย่างมีนัยสำคัญ

ในการแปลงแนวคิดเรื่องการยอมรับความแตกต่างให้เป็นตัวชี้วัดในชีวิตจริงนั้น คุณจะต้องสามารถวัดการยอมรับความแตกต่างได้ คุณต้องมีสเกลการวัด เพื่อเป็นตัวอย่างง่าย ๆ คุณสามารถใช้สเกลโดยกำหนดค่าดังต่อไปนี้:

ในด้านลบ:

คะแนนการยอมรับความแตกต่าง –10 = การเรียกร้องความรุนแรง

คะแนนความเกลียดชัง –4 = การแสดงออกว่าอยากจะออกห่าง

ในด้านบวก:  คะแนนการยอมรับความแตกต่าง +1 = การแสดงออกที่ก้ำกึ่ง (“ฉันไม่ได้ต่อต้านชาวฮินดู”)

คะแนนการยอมรับความแตกต่าง +10 = การแสดงออกที่ยอมรับชนกลุ่มน้อยทางศาสนาอย่างเปิดเผย (“ฉันชอบและเคารพชาวคริสต์มาก”)

นอกเหนือไปจากคำพูดแล้ว คุณยังสามารถกำหนดคะแนนให้การกระทำของคนได้ด้วย เช่น การเขียนโพสต์ที่แสดงถึงการยอมรับหรือไม่ยอมรับความแตกต่างต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนาอาจได้คะแนนในระดับหนึ่ง ส่วนการกดไลก์หรือแชร์โพสต์เหล่านั้นอาจได้คะแนนครึ่งเดียวเมื่อเทียบกับการเขียนโพสต์ ไม่ว่าคุณจะวัดการยอมรับความแตกต่าง การเลือกปฏิบัติ ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ความสามารถในการฟื้นตัว ความเชื่อใจ หรือแนวคิดอื่น ๆ คุณล้วนต้องกำหนดค่าที่ต่างกันให้กับคำนิยามต่างๆ เหล่านั้น

การใช้กลุ่มเปรียบเทียบ

มีองค์ประกอบหลักสองอย่างที่ควรอยู่ในการประเมินของคุณทุกครั้งที่ทำได้: การเปรียบเทียบก่อน-หลัง และกลุ่มเปรียบเทียบ

แนวคิดของการเปรียบเทียบก่อน-หลังก็คือการตรวจสอบสถานการณ์ก่อนที่จะเริ่มโครงการ และตรวจสอบอีกครั้งหลังสิ้นสุดโครงการ เช่น นักวิ่งอาจจับเวลาของตนเองก่อนจะเริ่มโปรแกรมฝึกแบบใหม่เป็นเวลาสามเดือน จากนั้นพวกเขาจะจับเวลาของตนเองหลังจากสิ้นสุดการฝึกสามเดือนนั้น นี่คือการเปรียบเทียบก่อน-หลัง เช่นเดียวกัน หากคุณต้องการทราบว่าความช่วยเหลือในการลดการเลือกปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยบน Facebook ได้ผลหรือไม่ คุณต้องวัดระดับการเลือกปฏิบัติทั้งก่อนและหลังการให้ความช่วยเหลือ และตรวจสอบความแตกต่าง

กลุ่มเปรียบเทียบประกอบด้วยผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ณ เวลาที่ประเมิน คุณต้องรวบรวมข้อมูลจากพวกเขาเช่นกัน นี่จะช่วยให้คุณสามารถตรวจสอบได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากคุณไม่ได้ทำโครงการนี้

กลุ่มเปรียบเทียบช่วยให้คุณสามารถควบคุมปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อโครงการของคุณได้ เช่น ระหว่างการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาการยอมรับความแตกต่างต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนาใน Facebook จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีสมาชิกชนกลุ่มน้อยทางศาสนาคนหนึ่งก่ออาชญากรรมร้ายแรงกับเด็กหญิงในพื้นที่ เป็นไปได้สูงว่าการกระทำนี้และการพูดคุยถึงเรื่องนี้ในสื่อต่าง ๆ จะเพิ่มระดับการไม่ยอมรับชนกลุ่มน้อยทางศาสนาให้สูงขึ้นใน Facebook ในกรณีนี้ การมีกลุ่มเปรียบเทียบจะเป็นทางเดียวที่ช่วยให้สามารถวัดผลลัพธ์ของโครงการที่คุณทำได้

เข้าร่วมชุมชนของเราบน Facebook

เข้าร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในระดับกว้างของเราผ่านเพจ Facebook ของเรา

Go to Facebook