บทที่ 5: สิ่งที่ควรและไม่ควรทำบนโซเชียลมีเดีย

แนวทางโดยละเอียดเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียสำหรับองค์กรภาคประชาสังคม

แนวทางและเคล็ดลับเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดและสร้างการมีส่วนร่วมเชิงบวกในโลกออนไลน์

คุณอาจเคยได้ยินหลักการ “ห้ามทำอันตราย” (Do No Harm) มันคือแนวคิดที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในองค์กรหลายแห่ง รวมถึงองค์การสหประชาชาติและมูลนิธิเอเชียด้วย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโครงการต่าง ๆ จะไม่ทำให้เกิดอันตรายหรือสร้างความขัดแย้งโดยไม่ตั้งใจ

“หลักการห้ามทำอันตราย” ตระหนักว่าความช่วยเหลือหรือโครงการทุกชนิดอาจทำให้เกิดผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจได้ แม้ว่าจะมีเจตนาดีเพียงใดก็ตาม แคมเปญบนโซเชียลมีเดียก็เช่นเดียวกัน โพสต์ที่มีเจตนาดีของคุณอาจส่งผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจหรือแม้แต่ผลกระทบเชิงลบ

เราต้องพิจารณาพฤติกรรมออนไลน์ของเราอย่างรอบคอบ เนื่องจากพลังของอินเทอร์เน็ตนั้นใหญ่หลวงมาก ทั้งในด้านบวกและด้านลบ ทุกคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้นั้นสามารถพูดอะไรก็ได้ ซึ่งจะส่งไปถึงผู้คนจำนวนมาก สิ่งต่าง ๆ อาจหลุดจากการควบคุมได้อย่างง่ายดาย หากเราไม่ยึดถือจรรยาบรรณพื้นฐานในโลกออนไลน์ นั่นคือการเอาใจเขามาใส่ใจเรากับคนที่เจอบนโลกออนไลน์เช่นเดียวกับในชีวิตจริง

อีกเหตุผลหนึ่งที่ควรปฏิบัติตามหลักการง่าย ๆ ในโลกออนไลน์นี้คือเพื่อให้การสื่อสารได้ผล เรามักเสียเวลาไปมากมายเพราะความผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในทางตรงกันข้าม คุณสามารถทำให้งานและชีวิตของคุณง่ายขึ้นได้ ด้วยการยึดหลักการสำคัญ ๆ เพียงไม่กี่ข้อ

อะไรที่อาจผิดพลาดได้บ้าง

 สารต่าง ๆ อาจถูกเข้าใจผิดไป เช่น การพูดถึงการสร้างสันติภาพและความเข้าใจในเชิงบวกอาจดูเหมือนเป็นการไม่ใส่ใจผู้ที่กำลังทุกข์ทรมานจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น

แคมเปญบนโซเชียลมีเดียอาจทำให้ผู้คนรู้สึกว่าพวกเขากำลังถูกผลักไสหรือเพิกเฉย เช่น แคมเปญเพื่อขับเคลื่อนเยาวชนอาจทำให้ผู้สูงอายุในหมู่บ้านรู้สึกสั่นคลอน

การเผยแพร่ข้อมูลที่ผิด การบิดเบือนข้อมูล หรือข่าวปลอม (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ) อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาที่เป็นอันตรายได้ ในช่วงการระบาดของโรคโควิด บุคคลที่มีอิทธิพลพยายามเผยแพร่คำแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพที่ไม่ถูกต้องหรือขัดแย้งกับแนวทางปฏิบัติจากมืออาชีพ ทำให้เกิดความสับสนและความไม่แน่นอน

โพสต์ที่มุ่งเป้าไปที่คนบางกลุ่มหรืออาศัยการเหมารวมหรือสมมติฐานที่ไม่ถูกต้องก็อาจส่งผลที่เป็นอันตรายได้ ในบางประเทศ การเหมารวมเกี่ยวกับกลุ่มต่าง ๆ และสมมติฐานเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสทำให้เกิดคำพูดที่สร้างความเกลียดชัง การเลือกปฏิบัติ และความรุนแรงมากขึ้น

ข้อความบนโซเชียลมีเดียอาจดึงดูดความคิดเห็นหรือโพสต์เชิงลบได้ แม้แต่โพสต์ที่มีเจตนาดีที่สุดก็อาจถูกกระหน่ำด้วยความคิดเห็นเชิงลบได้เช่นกัน ยิ่งโพสต์มีประสิทธิภาพมาก ก็มักจะดึงดูดความคิดเห็นเชิงลบได้มาก

คุณจะลดความเสี่ยงที่เกิดจากการโพสต์หรือการเผยแพร่ข้อมูลออนไลน์ได้อย่างไร

จงเข้าใจว่า:

มีผู้คนมากมายที่อาจได้อ่านโพสต์ของคุณ ไม่ใช่เฉพาะผู้รับสารที่คุณวางแผนไว้เท่านั้น และบางคนอาจรับรู้สิ่งต่าง ๆ ไม่เหมือนคุณ ถ้อยคำและภาพอาจมีพลังมาก และมันอาจส่งผลเชิงบวก (แคมเปญของคุณประสบความสำเร็จ) หรือเชิงลบ (ผู้คนไม่พอใจและรู้สึกเจ็บปวด) อย่างใหญ่หลวง เมื่อคุณเผยแพร่ข้อมูลออนไลน์ ถ้อยคำและภาพอาจถูกผู้อื่นนำไปแชร์หรือใช้ในบริบทที่แตกต่างออกไป

ก่อนที่จะโพสต์ ต้องถามตัวเองเสมอว่า:

ข้อมูลที่คุณเผยแพร่นั้นถูกต้องตามข้อเท็จจริงและเป็นปัจจุบันหรือไม่ ค้นคว้าข้อมูลและปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญทุกครั้งที่ทำได้

และให้ถามตัวเองเพิ่มเติมว่า:

  • คุณกำลังทำการเหมารวมแบบที่พบบ่อยหรือใช้สมมติฐานที่ไม่ถูกต้องหรือเปล่า ข้อนี้ทำได้ง่าย แต่มันอาจเป็นการเสริมกำแพง แทนที่จะทลายกำแพง 
  • ผู้รับสารของคุณจะตอบสนองต่อสารนี้อย่างไร หากไม่มั่นใจ ลองทดสอบก่อน! 
  • ผู้อื่นที่อยู่นอกชุมชนหรือไม่ใช่ผู้รับสารเป้าหมายของคุณจะมองสารนี้อย่างไร นี่ก็เช่นเดียวกัน ลองทดสอบสารของคุณกับคนนอกองค์กรก่อน! 
  • โพสต์ของคุณอาจไม่ตรงกับบริบทหรือเปล่า คุณอาจมีประเด็นที่สมเหตุสมผล แต่มันเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และปัจจัยอื่น ๆ รอบตัวคุณอย่างไร 
  • คุณพร้อมจะติดตามดูแลการตอบโต้คอนเทนต์ของคุณหรือเปล่า

จงยึดถือ “หลักการห้ามทำอันตราย” เสมอ และตรวจสอบอีกครั้งก่อนโพสต์ เพียงตระหนักถึงหลักการข้อนี้ ก็จะช่วยให้คุณสามารถหลีกเลี่ยงกับดักมากมายที่อาจเกิดขึ้นได้บนโซเชียลมีเดีย

สิ่งที่ควรและไม่ควรทำบนโซเชียลมีเดีย

PDF

เข้าร่วมชุมชนของเราบน Facebook

เข้าร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในระดับกว้างของเราผ่านเพจ Facebook ของเรา

Go to Facebook