ความเรียงภาพถ่าย

จิตรกรรมฝาผนัง “คลื่นลูกใหม่” ในศรีลังกา

แม้จะอยู่ท่ามกลางข่าวลือว่าเกิดโรคระบาดไปทั่วโลกและบรรยากาศทางการเมืองที่แบ่งขั้วชัดเจน ชาวศรีลังกาทั่วประเทศก็ยังทำเต็มที่เพื่อ "ทำให้ย่านของตนสวยงามขึ้น"

ไม่มีใครทราบจุดเริ่มต้นที่แน่ชัดของจิตรกรรมฝาผนัง “คลื่นลูกใหม่” ในศรีลังกา งานศิลปะจำนวนมากปรากฎขึ้นพร้อม ๆ กันในช่วงปลายปี 2019 ในขณะที่โคฐาภยะ ราชปักษะ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น แม้จะอยู่ท่ามกลางข่าวลือว่าเกิดโรคระบาดไปทั่วโลกและบรรยากาศทางการเมืองที่แบ่งขั้วชัดเจน ชาวศรีลังกาทั่วประเทศก็ยังทำเต็มที่เพื่อ “ทำให้ย่านของตนสวยงามขึ้น”

สื่อต่าง ๆ มองว่างานเหล่านี้เป็นผลมาจากคลื่นความตื่นตัวของเยาวชนในยุคที่มีการส่งเสริมความภูมิใจในชาติและท้องถิ่น และระบุว่ามันคือความพยายามที่จะทำให้พื้นที่ในเมืองสวยงามขึ้นโดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่งานศิลปะเหล่านี้เผยให้เห็นความจริงเกี่ยวกับอัตลักษณ์และการเมืองในศรีลังกายุคปัจจุบัน งานส่วนใหญ่นั้นเต็มไปด้วยอุดมการณ์ และหลายชิ้นตอกย้ำตำนานเกี่ยวกับต้นกำเนิดของชาวสิงหล ที่เป็นปัญหาคือ งานบางส่วนแสดงให้เห็นว่าประชาชนสนับสนุนแนวคิดแบบสุดโต่งบางอย่าง การยกย่องบุคคลที่ถูกกล่าวโทษว่าเป็นอาชญากรสงครามและเผยแพร่คำพูดที่สร้างความเกลียดชังนั้นเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป

มีจิตรกรรมฝาผนังเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่แสดงถึงแนวคิดแบบพหุวัฒนธรรม ซึ่งมักพบได้ในเมืองที่มีประชากรหลากหลายชาติพันธุ์ ในเมืองที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย จิตรกรรมฝาผนังต่าง ๆ แสดงถึงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และประวัติศาสตร์ของตนอย่างระมัดระวัง โดยไม่แสดงออกถึงความก้าวร้าวเลย ภาพทิวทัศน์ชนบทและภาพที่แสดงถึงอัตลักษณ์โดยไม่มีความรุนแรงนั้นพบเห็นได้ทั่วไปในเมืองเหล่านี้ แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง เช่น จิตรกรรมฝาผนังบางชิ้นที่พบในเมืองจาฟนา

จิตรกรรมฝาผนังจำนวนมากสะท้อนค่านิยมที่ก้าวร้าวและแสดงความเป็นชาย แนวคิดเรื่องความเป็นชายและความก้าวหน้า การพัฒนา และอัตลักษณ์ ดูเหมือนจะสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่นในความคิดของคนทั่วไป ราวณะคือตัวละครร่วมที่ปรากฏอยู่ในตำนานการก่อกำเนิดศรีลังกา ซึ่งถูกเล่าขานทั้งในหมู่ชนกลุ่มใหญ่และชนกลุ่มน้อยของประเทศ

การวาดจิตรกรรมฝาผนังเป็นประเพณีโบราณของศรีลังกา สื่อกลางชนิดนี้มีความสัมพันธ์กับประเพณีในศาสนาพุทธและฮินดูอย่างแน่นแฟ้น โดยถือว่าภาพจิตรกรรมคือศิลปะระดับสูงสุด ตัวอย่างของจิตรกรรมฝาผนังที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูงจะพบได้ตามวัดทั่วประเทศ และจิตรกรรมฝาผนังในสิกิริยาก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีชือเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ

ผลงานชิ้นใหม่ ๆ ยังแสดงถึงวัฒนธรรมป็อปของตะวันตกและมุ่งไปที่ประเด็นอย่างการทำลายสิ่งแวดล้อมและอันตรายของโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ ยังมีภาพอีกบางส่วนที่วาดขึ้นจากภูมิทัศน์ในจินตนาการ

ความคิดเชิงบวกที่เป็นแรงบันดาลใจแก่จิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้ก็ค่อย ๆ จางหายไป มีภาพวาดใหม่ ๆ น้อยลง และภาพที่เหลืออยู่ก็กลายเป็นสุสานแห่งความฝันที่จืดจางลงตามสีที่ค่อย ๆ จางหายไป หรือไม่ก็ถูกทำลาย ถูกคุกคาม หรือถูกซ่อนไว้

จิตรกรรมฝาผนังที่ตลาดในเมืองตรินโคมาลีแสดงฉากจากนิยายวิทยาศาสตร์/โลกแฟนตาซี (ภาพ: มูลนิธิเอเชีย/อับดุล ฮาลิก อาซีซ)

จิตรกรรมฝาผนังในเมดาวัชชิยาแสดงการมาถึงของพุทธศาสนาในศรีลังกา ผ่านพระมหินทเถระ บุตรของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย โดยเป็นภาพแสดงเหตุการณ์ขณะเทศนาให้กษัตริย์ศรีลังกาฟังที่หินมิฮินตาเล (ภาพ: มูลนิธิเอเชีย/อับดุล ฮาลิก อาซีซ)

จิตรกรรมฝาผนังในเมืองอนุราธปุระแสดงการมาถึงของเจ้าชายวิชัย นักรบชาวอินเดียที่ถูกเนรเทศ และมีตำนานกล่าวขานว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวสิงหล (ภาพ: มูลนิธิเอเชีย/อับดุล ฮาลิก อาซีซ)

ผู้นำในศาสนาพุทธ ฮินดู อิสลาม และคริสต์ยืนอยู่ด้วยกันในจิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่ภาพนี้ ซึ่งอยู่ในเมืองแฮตตัน (ภาพ: มูลนิธิเอเชีย/อับดุล ฮาลิก อาซีซ)

จิตรกรรมฝาผนังที่ป้ายรถประจำทางในเมดาวัชชิยาแสดงภาพของกะอ์บะห์ในนครมักกะฮ์ ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีที่สำคัญของชาวมุสลิม (ภาพ: มูลนิธิเอเชีย/อับดุล ฮาลิก อาซีซ)

จิตรกรรมฝาหนังในเมืองจาฟนาแสดงช่วงเวลาที่ซาบซึ้งระหว่างเด็กชายกับวัว ซึ่งเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู (ภาพ: มูลนิธิเอเชีย/อับดุล ฮาลิก อาซีซ)

จิตรกรรมฝาผนังในเมืองจาฟนาแสดงภาพของเจ้าชายหรือกษัตริย์ของชาวทมิฬ (ภาพ: มูลนิธิเอเชีย/อับดุล ฮาลิก อาซีซ)

ราวณะ กษัตริย์ศรีลังกาในยุคก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นที่กล่าวขานว่ามีเรือบินเป็นของตัวเอง ลอยสูงอยู่เหนือพื้นดินในจิตรกรรมฝาผนังฝาผนังที่เมืองดัมบูลลา (ภาพ: มูลนิธิเอเชีย/อับดุล ฮาลิก อาซีซ)

จิตรกรรมฝาผนังในเมืองเมดาวัชชิยาที่เป็นการเลียนแบบจิตรกรรมฝาผนังโบราณในภูเขาหินสิกิริยา กราฟิตี้บทกวีในรูปหมายเลขโทรศัพท์ถูกเขียนลงทั่วพื้นผิว อย่างถูกต้องตามฉันทลักษณ์ (ภาพ: มูลนิธิเอเชีย/อับดุล ฮาลิก อาซีซ)

กอลลัม, เมดาวัชชิยา (ภาพ: มูลนิธิเอเชีย/อับดุล ฮาลิก อาซีซ)

เกี่ยวกับอับดุล ฮาลิก อาซีซ

อับดุล ฮาลิก อาซีซ เป็นศิลปินสาขาทัศนศิลป์ นักวิจัย และช่างภาพวารสารที่ประจำอยู่ในโคลอมโบ ศรีลังกา งานของเขาถ่ายทอดภูมิทัศน์ในยุคหลังสงครามของศรีลังกา ซึ่งเน้นการพัฒนาที่มาพร้อมกับความเสียหายของธรรมชาติที่ขยายวงกว้างขึ้น การท่องเที่ยวที่แพร่หลายอย่างรวดเร็ว โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และความตึงเครียดระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่ก่อตัวขึ้นอีกครั้ง โดยเกิดขึ้นภายในโลกของสื่อยุคใหม่ที่คาดเดาได้ยาก อับดุล ฮาลิก อาซีซ ศึกษาร่องรอยของผลกระทบเหล่านี้ในสิ่งแวดล้อมที่ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ ทั้งในทางวัตถุและในทางจิตใจ งานของเขาจัดแสดงที่หอศิลป์ซัสเกีย เฟอร์นานโด ในโคลอมโบ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานของเขา โปรดไปที่ abdulhalikazeez.com หรือ instagram.com/colombedouin

เข้าร่วมชุมชนของเราบน Facebook

เข้าร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในระดับกว้างของเราผ่านเพจ Facebook ของเรา

Go to Facebook