กรณีศึกษา
ไข่เน่า: การเอาชนะความเข้าใจผิดและการบิดเบือนข้อมูลในโคตาบาโต ประเทศฟิลิปปินส์
ในฐานะผู้ดำเนินรายการคนหนึ่งของ Kapit Bisig ซีรีส์ออนไลน์ที่ออกแบบมาเพื่อต่อต้านการบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาด โจว ซาลิก อดีตผู้ทำงานสนับสนุนเยาวชนกำลังช่วยนำทางชุมชนในมินดาเนาให้ก้าวไปสู่ความจริง
ปัญหาเรื่อง “ข่าวปลอม” ได้รับความสนใจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่เป็นที่น่าอับอายที่การบิดเบือนข้อมูลได้ปลุกปั่นให้เกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างชุมชนต่าง ๆ ทั่วโลกมาอย่างยาวนาน
จากประสบการณ์ตรงในฐานะชาวบังซาโมโรและมุสลิมจากมินดาเนา โจว ซาลิก เข้าใจความขัดแย้งที่เกิดจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะมาจากการเผยแพร่โดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม
สังคมในมินดาเนา ซึ่งเป็นเกาะทางใต้สุดของฟิลิปปินส์ มีความแตกแยกด้วยปัจจัยเลวร้ายต่าง ๆ ที่ผสมผสานกัน ทั้งความรุนแรงทางการเมืองที่ยาวนานหลายทศวรรษ ความขัดแย้งโดยใช้อาวุธ อันเกิดจากความแตกต่างทางอัตลักษณ์ และการแบ่งแยกทางชาติพันธุ์และวงศ์ตระกูล
ตอนนี้โจว ซาลิก อยู่ในแนวหน้าของการต่อสู้เพื่อต่อต้านการบิดเบือนข้อมูลในฐานะพิธีกรของซีรีส์ดิจิทัล Kapit Bisig พร้อมกับผู้ดำเนินรายการและนักข่าวเยาวชนคนอื่น ๆ The Moropreneur Inc (TMI) องค์กรไม่แสวงผลกำไรในเมืองโคตาบาโต ได้จัดทำรายการ Kapit Bisig ขึ้นเพื่อต่อสู้กับความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลก
คำว่า “kapit bisig” เป็นภาษาฟิลิปปินส์ แปลว่า “ทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ” คำนี้โดนใจโจว ซาลิก อย่างมาก เพราะเขาทุ่มเทเวลาเกือบสิบปีในการทำให้คนหนุ่มสาวในมินดาเนาเข้าใจกันมากขึ้น
“ผมมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเยาวชนมาตั้งแต่ปี 2012 และการพัฒนาในประเด็นนี้เป็นสนามฝึกซ้อมของผม” เขากล่าว “ผมหลงรักแนวคิดเรื่องการทำอะไรบางอย่างเพื่อชุมชนและตระหนักถึงประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับคนหนุ่มสาวมากขึ้น ตอนนี้ผมตื่นเต้นที่จะได้รับใช้เยาวชนของมินดาเนาต่อไปด้วยข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ”
เมื่อพิจารณาถึงความตึงเครียดที่แฝงอยู่ในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตปกครองตนเองบังซาโมโรในมินดาเนาของชาวมุสลิม การรายงานตามข้อเท็จจริงจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการรักษาดุลยภาพ ดังนั้นเมื่อดุลยภาพนี้ต้องเสียไปจากข้อมูลเท็จ ทำให้ผลที่ตามมาอาจรุนแรง
ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดซีรีส์นี้คือเหตุการณ์ในเมืองโคตาบาโตที่ผู้คนกักตุนไข่ โดยเชื่อว่าจะช่วยต่อสู้กับโควิด-19 ได้ ในมินดาเนา ประเพณีท้องถิ่นที่สืบทอดมาหลายศตวรรษฝังรากลึกในชุมชนของทุกศาสนา ความเชื่อพื้นบ้านอย่างหนึ่งของคนส่วนใหญ่คือ ไข่เป็นสัญลักษณ์ของดวงวิญญาณมนุษย์และมีคุณสมบัติในการรักษาเยียวยา ความเชื่อนี้นำไปสู่เหตุการณ์การกักตุนไข่
ในช่วงสี่เดือนแรก ซีรีส์นี้ผลิตออกมาทั้งหมด 15 ตอน โดยเน้นเรื่องโรคระบาดเป็นหลัก หัวข้อต่าง ๆ ครอบคลุมทั้งข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับโรคระบาด ผลกระทบในชีวิตจริงต่อภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม และคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการที่คนหนุ่มสาวจากทุกศาสนาจะสามารถอยู่รอดและประสบความสำเร็จได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากสุด ๆ นี้ รูปแบบของโชว์เป็นแบบเบา ๆ สนุกสนาน และตรงประเด็น มันโดนใจเยาวชนในมินดาเนาและขยายวงกว้างขึ้นในฟิลิปปินส์
ในซีซันที่สองของการออกอากาศ ซีรีส์ได้พัฒนาไปไกลกว่าเดิม มีการผลิตคอนเทนต์ที่ออกแบบมาเพื่อให้ข้อมูลและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในประเด็นต่าง ๆ มากมาย โดยมุ่งเข้าถึงผู้คนในวงกว้าง ควบคู่ไปกับการที่ TMI ร่วมพัฒนาโครงการสื่อสารเชิงนวัตกรรมสร้างความเข้าใจในมินดาเนา
ซีรีส์นี้มีเยาวชนเป็นพรีเซนเตอร์ และใช้รูปแบบทอล์คโชว์ที่มีการสัมภาษณ์บุคคลที่มีอิทธิพลอย่างหลากหลาย ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น นักการเมือง ผู้นำศาสนา และผู้แทนสันติภาพ การสัมภาษณ์ร่วมกับการรายงานสดจากผู้สื่อข่าวภาคสนามทั่วทั้งมินดาเนา ด้วยการถ่ายทอดข้อมูลระดับสูงในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ทำให้ซีรีส์นี้เป็นสะพานเชื่อมระหว่างรัฐบาลกับประชาชน
โจวได้ลองใช้โอกาสนี้ในการต่อสู้กับข้อมูลเท็จในเชิงรุก “มัน (Kapit Bisig) เป็นช่องทางในการทดลองทำสื่อพลเมือง” เขากล่าว “ผมหลงใหลไปกับการเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องสาระสำคัญและผลลัพธ์ในการสร้างชุมชนออนไลน์ที่มีความรู้และมีส่วนร่วมมากขึ้น”
โซเชียลมีเดียเป็นจุดสนใจหลักสำหรับองค์กร TMI โดยมีซีรีส์ Kapit Bisig เป็นช่องทางเผยแพร่เดียว ซึ่งฉายบนเพจ Facebook ทุกวันจันทร์ การมีส่วนร่วมกับผู้ชมเป็นไปด้วยดีมาตลอด ซีซันแรกของซีรีส์มีผู้เข้าชมประมาณ 52,000 ครั้ง ซีซันแรกยังคงดูได้บนเพจ Facebook ของ TMI ทำให้ยอดแชร์และยอดเข้าชมจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างแน่นอน
อนาคตดูสดใสสำหรับโจว และ Kapit Bisig ขณะนี้ TMI กำลังสำรวจตัวเลือกในการขยายโครงสร้างโดยการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายอื่น ๆ โดยมีแผนจะขยายขอบเขตของผังรายการให้กว้างขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมหัวข้อต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ศิลปะ และการพัฒนาส่วนบุคคล
โดยส่วนตัวแล้ว โจวได้รับแรงบันดาลใจจากอาชีพใหม่ของเขา ประสบการณ์ดังกล่าวเป็นแรงผลักดันให้เขารับบทบาทนี้และช่วยต่อสู้กับภัยจาก “ข่าวปลอม” ในตำแหน่งที่โดดเด่นยิ่งขึ้น
“โอกาสที่จะได้อยู่หน้ากล้องช่วยให้ผมค้นพบตัวเองและนำทางไปยังที่ที่ผมต้องการจะเติบโตในอาชีพ” เขากล่าว “ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทรงโปรด วันหนึ่งผู้คนจะได้เห็นผมรับใช้คนหนุ่มสาวของเราด้วยการนำเสนอเรื่องราวที่เป็นข้อเท็จจริงในสื่อกระแสหลัก”