10 เคล็ดลับดี ๆ ในการถ่ายภาพให้ออกมายอดเยี่ยม

เคล็ดลับง่าย ๆ ในการปรับปรุงภาพถ่ายของคุณเพื่อให้เล่าเรื่องด้วยภาพได้ดีขึ้น

กล้องดิจิทัลช่วยให้ถ่ายภาพได้ง่ายขึ้นและค่าใช้จ่ายถูกลงกว่าแต่ก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกภาพจะออกมาดี ทำตามเคล็ดลับง่าย ๆ เหล่านี้เพื่อปรับปรุงภาพถ่ายของคุณ แล้วคุณจะเล่าเรื่องด้วยภาพได้ดีขึ้น 

เลือกรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับภาพถ่ายของคุณ

แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ มีข้อกำหนดเรื่องภาพแตกต่างกัน เพื่อให้แน่ใจว่าภาพของคุณใช้ได้ดีบนแพลตฟอร์มที่คุณเลือก ให้ตรวจดูข้อกำหนดที่นี่ ซึ่งเป็นคำแนะนำที่อัปเดตเสมอ 

คิดเรื่องพื้นหลัง

วางแผนภาพถ่ายของคุณอย่างรอบคอบและพิจารณาถึงพื้นหลังด้วย พื้นหลังเรียบ ๆ จะดีที่สุด พื้นหลังที่เยอะอาจทำให้เสียสมาธิได้

ถ้าคุณต้องการปกป้องตัวตนของคนในภาพ ให้คำนึงถึงองค์ประกอบของสถานที่ในพื้นหลังให้ดี เช่น ป้ายถนน อาคาร และต้นไม้ แม้ว่าคุณจะไม่ได้ถ่ายให้เห็นใบหน้าของบุคคลในภาพ แต่พื้นหลังอาจมีร่องรอยที่เปิดเผยสถานที่หรือตัวตนได้ 

ไอเดียในการปกป้องตัวตนของบุคคลในภาพ

ถ่ายภาพจากด้านหลังของคน แต่ต้องดูให้แน่ใจว่าเงาร่างของคนนั้นจะไม่เปิดเผยว่าเขาเป็นใคร แม้แต่ทรงผมก็อาจบ่งบอกได้ ดังนั้น ขอให้เขาสวมหมวกไว้ คุณสามารถถ่ายภาพมือคนโดยไม่มีเครื่องประดับหรือเครื่องหมายใด ๆ ที่ระบุตัวตนได้

ถ่ายภาพครึ่งล่างของขาและเท้าจากด้านหลัง หรือภาพเท้าของกลุ่มคน 

ถ่ายภาพมุมใกล้ให้เต็มเฟรม

ถ้าคุณสามารถเปิดเผยตัวตนคนในภาพ การถ่ายภาพใบหน้าของเขาในมุมใกล้ให้เต็มเฟรมอาจเป็นวิธีสื่ออารมณ์ที่มีประสิทธิภาพมาก วิธีนี้จะทำให้ความสนใจของผู้ดูภาพจดจ่ออยู่กับใบหน้าของคนในภาพ คุณสามารถถ่ายภาพด้วยวิธีนี้หรือมาครอบตัดภาพในภายหลัง คุณสามารถครอบตัดผมออกได้ แต่ควรมีดวงตาอยู่เสมอ และดูให้แน่ใจว่าอยู่ในจุดโฟกัส 

ใช้แสงธรรมชาติ

ถ่ายภาพกลางแจ้งหรือใกล้หน้าต่างบานใหญ่ วิธีนี้จะช่วยให้คุณได้ภาพที่นุ่มนวลและเป็นธรรมชาติ เพื่อให้ได้ภาพถ่ายกลางแจ้งที่ดีที่สุด ควรถ่ายภาพตอนเช้าตรู่หรือบ่ายแก่ ๆ ในช่วงที่แสงไม่แรง ช่วงกลางวันแสงจะแรงมาก

ถ้าคุณจะถ่ายภาพในร่มและต้องการแสงเป็นพิเศษ ดูให้แน่ใจว่าไม่มีแสงส่องเหนือศีรษะของเป้าหมายมากเกินไป ใช้แสงส่องจากหลาย ๆ ทาง และส่องแสงจากข้างหน้าเพื่อให้ใบหน้าสว่าง 

ใช้แฟลชกลางแจ้ง

วิธีนี้ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเงาบนใบหน้าได้ คุณอาจมองเห็นใบหน้าคนขณะถ่ายภาพ แต่ภาพที่ถ่ายออกมาอาจยังมืดเกินไป ถ่ายภาพหนึ่งโดยใช้แฟลชและอีกภาพหนึ่งโดยไม่ต้องใช้แฟลช แล้วดูความแตกต่าง 

ลองถ่ายต่างมุม

การถ่ายภาพโดยมองตรงไปข้างหน้าเสมอเป็นเรื่องง่าย ทดลองถ่ายภาพจากระดับที่ต่างออกไปบ้าง เช่น ถ่ายโดยมองขึ้นไปหรือมองลงมาที่เป้าหมาย ยืนบนเก้าอี้หรือบันไดเตี้ย ๆ เพื่อให้ได้มุมสูงขึ้น มุมภาพสามารถทำให้องค์ประกอบต่าง ๆ ดูน่าสนใจมากขึ้น ถ้าถ่ายภาพคน การถ่ายภาพจากมุมต่าง ๆ สามารถเปลี่ยนอารมณ์ของภาพถ่ายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ 

เส้นนำสายตา

เส้นนำสายตาจะช่วยนำทางให้ผู้ดูภาพมุ่งความสนใจไปยังองค์ประกอบที่สำคัญ ทุกอย่างใช้เป็นเส้นนำสายตาได้ ตั้งแต่ทางเดินและกำแพงไปจนถึงลวดลายต่าง ๆ

จากซ้ายไปขวา

หลายวัฒนธรรมอ่านข้อความจากซ้ายไปขวา ด้วยเหตุนี้ขอแนะนำว่าการเคลื่อนไหวใด ๆ ที่แสดงในภาพถ่ายควรไหลจากซ้ายไปขวา วิธีนี้จะสร้างองค์ประกอบที่คล้ายกับการเล่าเรื่อง ผู้ดูภาพอาจอยากรู้เกี่ยวกับจุดหมายปลายทางที่บุคคลในภาพกำลังเดินไป

ถ่ายภาพหมู่ให้แปลกใหม่

ภาพถ่ายแบบเป็นทางการจากงานสัมมนาและงานกิจกรรมต่าง ๆ ดูเหมือนกันหมด คือผู้คนยืนตัวแข็งทื่อเคียงข้างกัน ควรให้มีคนนั่งบ้างยืนบ้าง ถ้าสามารถทำได้ก็ลองถ่ายเซลฟี่แบบสนุก ๆ เพื่อให้ได้ความรู้สึกของการร่วมมือหรือการทำงานร่วมกันภายในกลุ่ม

ถ่ายภาพการประชุมจากทางด้านหลังผู้พูด วิธีนี้สามารถจับภาพปฏิกิริยาของผู้ที่เข้าประชุมและบรรยากาศของงานได้ อย่าลืมถ่ายภาพก่อนงานและหลังงานเพื่อแสดงให้เห็นเบื้องหลังของความพยายาม 

เข้าร่วมชุมชนของเราบน Facebook

เข้าร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในระดับกว้างของเราผ่านเพจ Facebook ของเรา

Go to Facebook