ความเรียงภาพถ่าย

แม่ม่ายเสือแห่งสุนทรพน

สุนทรพน เป็นความภาคภูมิใจของบังกลาเทศ และเป็นที่อยู่อาศัยของเสือเบงกอล ซึ่งเป็นสัตว์ที่สวยงามและหายาก ปัจจุบัน เสือที่หากินอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลนอันกว้างใหญ่นั้นเข้ามาใกล้ถิ่นที่อยู่และมีปัญหากับมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ จนเข้าโจมตีมนุษย์บ่อยขึ้น

ป่าชายเลนสุนทรพนอันกว้างใหญ่ เป็นความภาคภูมิใจของบังกลาเทศ และเป็นที่อยู่อาศัยของเสือเบงกอล ซึ่งเป็นสัตว์ที่สวยงามและหายาก ปัจจุบัน เสือที่หากินอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลนอันกว้างใหญ่ในแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำคงคา แม่น้ำพรหมบุตร และแม่น้ำเมฆนา ได้เข้ามาใกล้ถิ่นที่อยู่และมีปัญหากับมนุษย์มากขึ้น มีเสือโจมตีคนบ่อยขึ้น โดยมีการประมาณการว่าเสือได้ฆ่าคนไปถึงปีละ 120 คน

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้ทะเลในบริเวณตอนใต้ของสุนทรพนมีระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้ค่าความเค็มสูงขึ้น อีกฝั่งหนึ่งของป่าเป็นพื้นที่คล้ายทะเลทราย ซึ่งดินแตกเป็นร่องลึกและไม่สามารถเพาะปลูกได้เนื่องจากไม่มีน้ำจืด การเพาะเลี้ยงกุ้งที่ทำกันมาอย่างยาวนานก็ลดลงเช่นกัน

ชาวไร่ชาวนาจำนวนมากไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และถูกบีบให้ต้องเข้าป่าไปหาปลา หาน้ำผึ้ง หรือเก็บฟืน จึงมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะถูกเสือโจมตี การหาประโยชน์จากป่าชายเลนอย่างเข้มข้นก็บีบให้เสือต้องออกมาหาอาหารบนแผ่นดินใหญ่เช่นกัน

ชาวบ้านที่สุนทรพนหันไปพึ่งเทพธิดาบอนบีบีในท้องถิ่น ทั้งชาวฮินดูและมุสลิมไปสวดภาวนาร่วมกันที่ศาลเจ้าเล็ก ๆ ที่มีหลังคามุงจาก เพื่อขอให้เทพธิดาคุ้มครองก่อนที่จะไปเข้าป่าอีกครั้ง ความเชื่อเรื่องโชคลางแพร่หลายไปทั่ว หญิงที่สามีเดินทางไปยังป่าสุนทรพนจะต้องไม่หวีผม ไม่ทำอาหารตอนกลางวัน ไม่ซักเสื้อผ้า และไม่ทำความสะอาดบ้าน

หากสามีของเธอถูกเสือฆ่าตาย เธอจะถูกมองว่านำโชคร้ายเข้ามา ผู้คนจะหลีกเลี่ยงและขับไล่เธอ และหลังจากสามีของเธอเสียชีวิตอย่างน่าเศร้า เธอจะถูกครอบครัวของสามีไล่ออกจากบ้าน เพราะความยากจน เธอจึงต้องหาเลี้ยงครอบครัวด้วยตัวคนเดียวโดยไม่มีทางเลือกอื่น

เมื่อนานมาแล้ว บริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของป่าสุนทรพน แต่ถูกชาวบ้านถางป่าไปทั้งหมด เพื่อนำมาทำเป็นพื้นที่เพาะปลูก ที่นี่ ชาวบ้านที่ยากจนมากจะขุดหารากไม้เก่า ๆ ที่ตายแล้วมาทำเป็นไม้ฟืน สัตขิระ บังกลาเทศ ปี 2011 (ภาพ: มูลนิธิเอเชีย/เนมัซซามาน ปรินซ์)

ผืนดินแตกระแหงเหมือนทะเลทรายที่อีกฝั่งหนึ่งของป่าสุนทรพน เด็กชายขนรากไม้ที่ขุดขึ้นมากลับบ้าน โดยแม่ของเขาจะใช้มันเป็นเชื้อเพลิงในการประกอบอาหาร สัตขิระ บังกลาเทศ ปี 2011 (ภาพ: มูลนิธิเอเชีย/เนมัซซามาน ปรินซ์)

ฮาเซรา เป็นเหยื่อของเสือ อาลอม สามีของเธอ ถูกเสือฆ่าไปเมื่อสองสัปดาห์ก่อนจะถ่ายภาพนี้ เขาทิ้งให้เธอเป็นแม่ม่าย พร้อมกับลูกชายวัยเด็กอีกสองคน สัตขิระ บังกลาเทศ ปี 2011 (ภาพ: มูลนิธิเอเชีย/เนมัซซามาน ปรินซ์)

เหล่าผู้หญิงและเด็กหญิงต้องเดินวันละ 5-6 กิโลเมตรเพื่อไปตักน้ำดื่มทุกวัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและการเพาะเลี้ยงกุ้งที่แพร่หลาย ทำให้น้ำบาดาลเค็ม มีเพียงบ่อน้ำลึกไม่กี่แห่งที่มีน้ำดื่ม สัตขิระ บังกลาเทศ ปี 2011 (ภาพ: มูลนิธิเอเชีย/เนมัซซามาน ปรินซ์)

สุนทรพนเป็นป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในช่วงที่น้ำขึ้น ผืนดินจะมีน้ำท่วมนอง ทั้งมนุษย์และเสือจะจับปลาที่เกยตื้นอยู่ในป่า และต้องเผชิญหน้ากันอยู่บ่อย ๆ สัตขิระ บังกลาเทศ ปี 2011 (ภาพ: มูลนิธิเอเชีย/เนมัซซามาน ปรินซ์)

ฮาสมอต ถูกเสือทำร้ายเมื่อ 20 ปีก่อน ขณะที่เขาเข้าป่าไปจับปลา เขารอดชีวิตมาได้อย่างปาฏิหาริย์ แต่ก็มีสิ่งที่คอยย้ำเตือนเขาถึงเหตุการณ์นั้นอยู่ตลอดเวลา เขามีแผลเป็นมากมายบนใบหน้า และไม่สามารถออกนอกบ้านโดยไม่ปิดบังใบหน้าได้ สัตขิระ บังกลาเทศ ปี 2011 (ภาพ: มูลนิธิเอเชีย/เนมัซซามาน ปรินซ์)

โซนาโมนิเป็นแม่ม่ายเสือ หรือผู้ที่สูญเสียสามีไปเพราะเสือ เธอแต่งงานสองครั้ง และสามีทั้งสองคนล้วนเสียชีวิตเพราะเสือ พ่อแม่สามีไล่เธอออกจากบ้าน และพ่อแม่ของเธอเองก็ไม่ต้อนรับเธออีกต่อไป เพราะกลัวว่าเธอจะนำโชคร้ายมาให้ สัตขิระ บังกลาเทศ ปี 2011 (ภาพ: มูลนิธิเอเชีย/เนมัซซามาน ปรินซ์)

การบูชาเทพธิดาฮินดูของแม่ม่ายเสือ สัตขิระ บังกลาเทศ ปี 2011 (ภาพ: มูลนิธิเอเชีย/เนมัซซามาน ปรินซ์)

มิตาลี มอนดอล ไปจับปลาที่ป่าสุนทรพนกับสามีของเธอ เสือเข้าทำร้ายและฆ่าสามีของเธอไปต่อหน้าต่อตา แต่เธอก็ยังคงจับปลาที่ป่าสุนทรพนต่อไป เพราะไม่มีทางเลือกอื่นในการหาเลี้ยงชีพ สัตขิระ บังกลาเทศ ปี 2011 (ภาพ: มูลนิธิเอเชีย/เนมัซซามาน ปรินซ์)

เด็กหญิงและเด็กชายจำนวนมากจับปลาอยู่ด้านข้างป่าสุนทรพน แม้จะทราบดีว่าอาจถูกเสือทำร้ายได้ทุกเมื่อ นี่คือวิธีเดียวที่จะอยู่รอดได้ และความกลัวก็พ่ายแพ้ต่อความหิวโหย สัตขิระ บังกลาเทศ ปี 2011 (ภาพ: มูลนิธิเอเชีย/เนมัซซามาน ปรินซ์)

เกี่ยวกับเนมัซซามาน ปรินซ์

เนมัซซามาน ปรินซ์ เป็นช่างภาพนิ่งและวิดีโอที่ประจำอยู่ในเมืองธากา บังกลาเทศ โดนเน้นถ่ายทอดปัญหาด้านสังคมและวัฒนธรรมเกี่ยวกับสิทธิสตรี วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ สิทธิในการทำงาน สุขภาพ การพัฒนา สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การเมือง ความรุนแรงทางการเมือง และศาสนา

นอกจากเรื่องแม่ม่ายเสือแห่งสุนทรพนแล้ว ผลงานภาพถ่ายและวิดีโอที่สำคัญของเขามักจะถ่ายทอดประเด็นที่ท้าทาย เช่น โรคมะเร็งในเด็ก เหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา หมู่บ้านผู้ป่วยโรคเรื้อนในรัฐทมิฬนาฑู (อินเดีย) แรงงานอพยพชาวบังกลาเทศทั่วโลก การแต่งงานในวัยเด็ก ภัยพิบัติจากน้ำมันในสุนทรพน ความรุนแรงทางการเมือง ผู้อพยพชาวโรฮิงญา และประเพณีการแสดงละครสัตว์ของบังกลาเทศ เป็นต้น

เขาเป็นสมาชิกของมูลนิธิภาพถ่ายสิ่งพิมพ์โลก และเคยได้รับการเสนอชื่อให้เข้าร่วมฝึกอบรมในหลักสูตรจูป สวอร์ท มาสเตอร์คลาส ของมูลนิธิภาพถ่ายสิ่งพิมพ์โลก นอกจากนี้ยังเป็นสมาชิกของกลุ่ม Bilderberg ในเยอรมนี และเป็นช่างภาพของห้องภาพ Redux ในนิวยอร์ก

เข้าร่วมชุมชนของเราบน Facebook

เข้าร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในระดับกว้างของเราผ่านเพจ Facebook ของเรา

Go to Facebook