กรณีศึกษา

หนังสือ “มนุษย์” ช่วยสร้างความเข้าอกเข้าใจกันในบังกลาเทศ

ห้องสมุดมนุษย์แห่งบังกลาเทศส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยอย่างใกล้ชิดในหัวข้อที่หลากหลาย เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าอกเข้าใจกันและต่อต้านการเลือกปฏิบัติ

ภาพลักษณ์ภายนอกอาจชี้นำให้เข้าใจผิดได้ เพราะเรามักจะตกหลุมพรางของการตัดสินผู้อื่นจากความคิดอคติและความลำเอียงของเรา แนวคิดของห้องสมุดมนุษย์แห่งบังกลาเทศคือการหลีกเลี่ยงที่จะตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอก โดยการเชื่อมโยงผู้คนที่หลากหลายเข้าด้วยกัน แม้จะมีความเชื่อ ค่านิยม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

โครงการในเมืองธากานี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 โดยกลุ่มเพื่อนในมหาวิทยาลัย และพยายามไม่ให้มีบรรยากาศแบบเป็นทางการเหมือนห้องสมุดทั่วไป โดยได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิดนำร่องที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก และมีการนำมาใช้ทั่วโลกนับแต่นั้นมา แทนที่จะมีหนังสือปกแข็งและบรรยากาศเงียบเชียบ ที่นี่ส่งเสริมให้มีการอภิปรายกันอย่างคึกคัก ในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับมนุษย์ ดังปรากฏในชื่อโครงการ

วิธีดำเนินการนั้นง่ายมาก ผู้คนสามารถดูรายชื่อหนังสือ “มนุษย์” แล้วเลือกคนที่พวกเขาสนใจ และเข้าร่วมการสนทนา มนุษย์ทุกคนล้วนมีเรื่องราวที่จะบอกเล่า ไม่ว่าจะมาจากศาสนาใด หรือมีผิวสีอะไร หากไม่ทราบเรื่องราวเหล่านี้ เราก็ไม่มีทางเข้าใจพวกเขาหรือประสบการณ์ชีวิตของพวกเขาได้เลย

"หนังสือมนุษย์" คนนั้นจะบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองในกิจกรรมของห้องสมุดมนุษย์ เขาจะเล่าเรื่องราวความยากลำบากในชีวิต เช่น การมีผลการสอบวัดมาตรฐานที่ต่ำมันทำให้ความสามารถด้านอื่น ๆ ของเขาถูกบดบังไปอย่างไร ในวัฒนธรรมที่ให้คุณค่ากับสถานะทางสังคม คะแนนสอบมีความสำคัญกว่าสิ่งที่คุณได้เรียนรู้จริง ๆ ความคิดสร้างสรรค์และเส้นทางอาชีพมักถูกขัดขวางด้วยแรงกดดันทางสังคมและความกลัวการทำผิดพลาด แต่ความผิดพลาดของเขาก็ทำให้เขาไม่เหมือนใคร (ภาพ: ห้องสมุดมนุษย์แห่งบังกลาเทศ)

“ห้องสมุดมนุษย์เสริมสร้างวัฒนธรรมของการรับฟัง ด้วยการสร้างพื้นที่ในการบอกเล่าเรื่องราวขึ้นมา” ราฟซานัล โฮ้ก เลขาธิการและผู้ร่วมก่อตั้งห้องสมุดมนุษย์แห่งบังกลาเทศกล่าว “และยังเป็นการส่งเสริมให้เห็นว่าเราสามารถสร้างและพัฒนาความเข้าอกเข้าใจกันได้อีกด้วย”

การเลือกปฏิบัติเป็นด้านที่อัปลักษณ์ของชีวิตในบังกลาเทศ ปัญหาการแบ่งแยกในประเทศแถบเอเชียใต้นั้นมีตั้งแต่ความไม่เท่าเทียมทางเพศและความเกลียดชังทางศาสนา ไปจนถึงอคติทางชนชั้นและการไม่ยอมรับความแตกต่างในด้านอื่น ๆ ในบริบทเช่นนี้ เวทีสนทนาที่ช่วยเสริมสร้างความเข้าอกเข้าใจกันท่ามกลางการแบ่งแยกและการกีดกันนี้จึงมีคุณค่าโดยไม่ต้องสงสัย

หมวดหมู่ในรายการหนังสือที่ห้องสมุดมนุษย์นั้นมีหลากหลายมาก ส่วนกิจกรรมที่ผ่านมา มีการนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับผู้ที่ผ่านการหย่าร้าง ผู้ที่ติดยาเสพติด ผู้ที่มีความพิการทางร่างกายหรือทางสมอง ผู้รอดชีวิตจากการข่มขืน และเหยื่อของการเลือกปฏิบัติทางศาสนา เป็นต้น ห้องสมุดมนุษย์ส่งเสริมให้เกิดการสนทนา เพื่อให้ผู้อ่านก้าวข้ามกำแพงของเชื้อชาติ เพศ อายุ ศาสนา หรือสถานะทางสังคม

แนวคิดของห้องสมุดมนุษย์แห่งบังกลาเทศ "อย่าตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอก" พิมพ์อยู่บนใบปลิว ป้ายอธิบายประเด็นสำคัญของหนังสือมนุษย์ หนังสือมนุษย์จะมีชื่อเรื่อง แทนที่จะเป็นชื่อหรือข้อมูลของมนุษย์คนนั้น (ภาพ: ห้องสมุดมนุษย์แห่งบังกลาเทศ)

แน่นอนว่าสถานการณ์โรคระบาดระดับโลกที่กำลังเกิดขึ้นทำให้โครงการนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อน การล็อกดาวน์ การเว้นระยะห่างทางสังคม และความกังวลทั่วไปเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสทำให้กิจกรรมที่ต้องพบหน้ากันถูกยกเลิกไป กลยุทธ์การใช้โซเชียลมีเดียที่เข้มแข็งช่วยให้ห้องสมุดมนุษย์แห่งบังกลาเทศสร้างตัวตนที่ชัดเจนและสร้างชุมชนให้เติบโตได้ โดยเกิดจากการบอกเล่าเรื่องราวในแบบที่สร้างสรรค์และใช้แนวทางใหม่ ๆ

“เราทราบว่าโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางที่ยอดเยี่ยมในการเข้าถึงผู้คนและทำให้พวกเขารู้จักว่าเราคือใคร” โฮ้กกล่าว “แต่เราเพิ่งจะได้ใช้ศักยภาพของโซเชียลมีเดียอย่างเต็มที่ในช่วงที่เกิดโรคระบาดนี่เอง มันกลายเป็นหนทางเดียวที่จะเข้าถึงผู้รับสารของเราได้”

โครงการเด่นในช่วงเร็ว ๆ นี้ได้แก่ โครงการ “รู้จักฮีโร่ของคุณ” ซึ่งแสดงถึงความหลากหลายของบุคลากรด่านหน้าและบุคคลอื่นๆ ที่ทำงานเพื่อชุมชน ในช่วงที่เกิดโรคระบาด วิกฤตด้านสุขภาพระดับโลกในครั้งนี้ได้ทำลายสุขภาพจิตของคนอย่างรุนแรง และมักจะทำให้ความเหลื่อมล้ำและการแบ่งแยกรุนแรงขึ้น ดังนั้น จึงมีการออกแบบโครงการนี้เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความคิดแง่บวกและลดความขัดแย้ง

รู้จักฮีโรของคุณ - ลาเมีย มอห์ซิน (ภาพ: ห้องสมุดมนุษย์แห่งบังกลาเทศ)

บุคคลที่นำเสนอมีดังเช่น รานี โชธุรี ผู้หญิงข้ามเพศที่ทำงานช่วยเหลือชุมชนคนข้ามเพศในบังกลาเทศในช่วงที่เกิดโรคระบาด อีกคนหนึ่งที่ได้มานำเสนอคือกัปตันทีมชาติคริกเก็ตวีลแชร์ เขาเข้าร่วมกิจกรรมบรรเทาทุกข์อย่างแข็งขันในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดในปี 2020

รานี โชธุรี นักเต้น นางแบบ และนักกิจกรรมเพื่อคนข้ามเพศ เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ "รู้จักฮีโรของคุณ" (ภาพ: ห้องสมุดมนุษย์แห่งบังกลาเทศ)

เมื่อมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนทั่วโลก ก็เริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ที่ห้องสมุดมนุษย์แห่งบังกลาเทศ เริ่มมีการมุ่งความสนใจไปยังช่วงเวลาหลังจากการระบาดสิ้นสุดลง จากคำบอกเล่าของโฮ้ก โครงการนี้ได้ช่วยต่อต้านอคติและเสริมสร้างการเปลี่ยนแปลงค่านิยมในชุมชนต่าง ๆ ในเมืองธากา

เป้าหมายตอนนี้คือการค่อย ๆ พัฒนาไป เหล่าผู้ก่อตั้งยังคงค้นหาประเด็นใหม่ ๆ เพื่อให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมอยู่เสมอ ในขณะเดียวกัน การกลับมาจัดกิจกรรมแบบพบปะกันและการใช้กลยุทธ์โซเชียลมีเดียที่ดีก็จะช่วยให้ชื่อเสียงของโครงการนี้เติบโตและขยายฐานผู้รับสารออนไลน์ได้

ทีมงานของห้องสมุดมนุษย์ในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2017 (ภาพ: ห้องสมุดมนุษย์แห่งบังกลาเทศ)

“อนาคตดูน่าสนใจและสดใสมาก” โฮ้กกล่าวสรุป “เราตื่นเต้นที่จะได้สร้างชุมชนที่ใหญ่ขึ้นไปอีก เราต้องการดึงดูดผู้คนจากนอกธากาด้วย เป้าหมายคือการขยายโครงการ แต่เราก็ยังต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพและความสมบูรณ์ของหนังสือและกิจกรรมอยู่”

ด้วยการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ห้องสมุดมนุษย์แห่งบังกลาเทศเชื่อว่าผู้อ่านที่อยากรู้อยากเห็นจากทั่วบังกลาเทศจะเข้ามามีส่วนร่วมกับหนังสือที่หลากหลายและน่าสนใจของที่นี่

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับห้องสมุดมนุษย์แห่งบังกลาเทศ

Facebook

ดูเรื่องราวของรานีได้ที่นี่

Facebook

เข้าร่วมชุมชนของเราบน Facebook

เข้าร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในระดับกว้างของเราผ่านเพจ Facebook ของเรา

Go to Facebook